ออกจากเมืองแบ่ง ศูนย์กลางซื้อ-ขายวัตถุดิบ(ดอกต้นก๋ง)ในการผลิตไม้กวาดที่ส่งออกกลับมายังประเทศไทยเพื่อมามาบรรจบกับเส้นทางสาย
13(เหนือ) ที่เมืองไชย เมืองเอกของแขวงอุดมไชย ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
จากจุดนี้ เมื่อต้องเดินทางลงไปยังหลวงพระบาง ใช้ระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่วิ่งอยู่บนเขาประมาณ
90 กิโลเมตร
ในวันที่ผมใช้ถนนเส้นนี้เมื่อต้นปี
2553 สภาพถนนแม้มีหลุมมีบ่ออยู่บ้าง แต่ก็ถือว่ายังใช้ได้ มีปริมาณรถที่ใช้ถนนสายนี้พอสมควร
แถมบางช่วง
ยังพบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชาวตะวันตกทั้งหญิง-ชาย มาปั่นจักรยานกัน ซึ่งมีทั้งปั่นเป็นกลุ่มๆ และปั่นเดี่ยวๆ
ป้ายบอกเส้นทางที่เมืองไชย |
พอลงจากเขาจะพบกับสามแยกน้ำบากซึ่งต้องเลี้ยวขวา เพราะหากตรงไปจะเข้าไปเส้นทางสู่เมืองหัวพันของแขวงซำเหนือ
จากสามแยกน้ำบากเป็นต้นมา สภาพถนนเรียบเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีหลุมบ่อ และมีบางช่วงที่เป็นถนนเลียบไปกับแม่น้ำอู
ผมออกเดินทางจากเมืองไชยประมาณ
10 โมงเช้า และมาถึงหลวงพระบางประมาณเกือบ 4 โมงเย็น เพราะมีการแวะพักระหว่างทางเป็นระยะ
แม่น้ำอู |
หลวงพระบางในวันที่ผมมาถึงนั้น
กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ แม้ว่ายังคงอนุรักษ์จุดเด่นของเมืองที่เป็นมรดกโลกเอาไว้ในหลายๆจุด
เช่นการห้ามสร้างอาคารเกิน 2 ชั้น ในบริเวณศูนย์กลางของตัวเมือง
แต่กระแสทุนก็พยายามเจาะแทรกเข้าไปได้แล้วในหลายๆจุดเช่นกัน
นักท่องเที่ยวเดินกันคราคร่ำริมฝั่งโขง
บ้านเรือนถูกปรับสภาพขึ้นมาเป็นร้านอาหาร เฮือนพัก และมีโรงแรมสร้างใหม่เปิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก
เรื่องราวของหลวงพระบางคงไม่สามารถบรรยายในตอนนี้ได้ทั้งหมด ผมคิดว่าต้องเดินทางมายังเมืองนี้อีกหลายรอบ เพื่อสะสมข้อมูลและค้นหามุมมองใหม่ๆ ค่อยนำมาเล่าแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่ง...
แต่สำหรับการเดินทางมายังหลวงพระบางครั้งนี้
ผมพยายามหาสถานที่ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นเมืองหลวงพระบาง ที่ไม่ใช่เป็นหลวงพระบางในมิติ-มุมมองของชาวตะวันตก
หมู่บ้านผานม |
มีคนแนะนำให้ผมลองไปเที่ยวยังชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่ง
ซึ่งยังพยายามคงเสน่ห์ของความเป็นหลวงพระบางในอดีตเอาไว้ มีชื่อว่าหมู่บ้าน”ผานม”
บ้านผานมเป็นชุมชนไทลื้อดั้งเดิม
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคาน ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 4 กิโลเมตร มีประชากรอยู่ประมาณ 250 หลังคาเรือน
เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชาวไทลื้อก็คือการทอผ้า
บ้านของคนไทลื้อมักสร้างเป็นบ้านใต้ถุนสูง ที่ใต้ถุนจะมีกี่ทอผ้าประจำไว้ทุกบ้าน
ลูกสาวของคนไทลื้อจะถูกสอนให้ทอผ้าเป็นตั้งแต่ยังเด็ก
ส่วนเสาบ้านของไทลื้อจะไม่ฝังลงไปในดิน
แต่จะวางเสาไว้บนหลักหิน เล่ากันว่าเผื่อต้องการย้ายบ้าน สามารถยกบ้านไปได้ทั้งหลัง
!!!
บ้านไทลื้อดั้งเดิมที่วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน |
ที่บ้านผานม กลิ่นอายของชุมชนไทลื้อเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะสภาพของบ้านเรือน มีการประยุกต์รูปแบบบ้านให้เข้ากับยุคสมัย
บ้านใต้ถุนสูงแบบไทลื้อดั้งเดิมมีเหลืออยู่น้อย บ้านบางหลังกั้นผนังในส่วนที่เคยเป็นใต้ถุนให้เป็นชั้นล่าง และมีการก่อสร้างบ้านในรูปทรงสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น
บ้านที่ถูกประยุกต์หรือสร้างใหม่ ในบ้านผานม |
แต่สิ่งที่บ้านผานมพยายามคงเอกลักษณ์สำคัญของไทลื้อเอาไว้
ก็คือการทอผ้า
ในอดีต
บ้านผานมเคยเป็นแหล่งทอผ้าถวายให้กับเจ้ามหาชีวิตและราชสำนักของหลวงพระบาง ปัจจุบันผ้าทอจากบ้านผานมมีชื่อเสียงมาก
มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านตั้งเป็นศูนย์หัตถกรรมทอผ้า มีการสาธิตกระบวนการทอผ้า รวมถึงผลิตเป็นสินค้าให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเป็นจำนวนมาก
ตั้งแต่ผ้าผืน เสื้อผ้า กระเป๋า ย่ามฯลฯ
สาธิตการทอผ้า |
ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน มาช่วยขายผ้า |
นอกจากนี้
ยังมีศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าที่ทำมาจากเครื่องเงิน สาธิตการทำเครื่องเงิน รวมถึงนำศิลปวัตถุ รวมถึงวัตถุโบราณที่เป็นสัญลักษณ์ของหลวงพระบางในอดีตมาแสดงไว้ด้วย
สาธิตการทำเครื่องเงิน |
ของที่ถูกแสดงอยู่ในศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงินของบ้านผานม
มีตั้งแต่ภาพของเจ้ามหาชีวิตในอดีต รูปภาพเมืองในสมัยก่อน เงินกีบของลาวที่เคยถูกใช้ตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
กลองมโหระทึกที่ทำจากโลหะ ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นโต๊ะฯลฯ
ที่สำคัญคือมีรัฐธรรมนูญของลาว
ในสมัยที่ยังไม่ได้ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ถูกนำมาโชว์ไว้ในตู้ด้วย
รัฐธรรมนูญลาว สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง |
กลองมโหระทึกที่นำมาประยุกต์เป็นโต๊ะ |
ได้เดินเล่นชมสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านผานม ได้รับถึงความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการเดินเล่นริมแม่น้ำโขงของเมืองหลวงพระบาง
บรรยากาศทั่วไปของผานมยังคงความเป็นบ้านๆ
และเป็นบ้านๆแบบไทๆ คล้ายๆกับบรรยากาศของชุมชนในภาคเหนือของประเทศไทย ยุคสมัยเมื่อประมาณสัก
20 กว่าปีก่อน
ซึ่งเป็นยุคที่ความเจริญตามระบบทุนเพิ่งเริ่มต้นเข้าไปถึง...
วิถีแบบไทๆของชาวบ้านผานม |
ผมใช้เวลาเดินเล่นอยู่ในหมู่บ้านผานมประมาณ
2 ชั่วโมง ซึมซาบกับภาพต่างๆที่พบเห็นเอาไว้พอสมควร
สิ่งที่อยู่ในหัว ตอนที่กำลังจะออกจากหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อเดินทางกลับเข้าไปในเมืองหลวงพระบาง ผมคิดเพียงแค่ว่า ถ้ามาครั้งหน้าขออย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมได้พบเห็นในการมาเยือนครั้งนี้มากนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น