วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วัฏจักรชีวิต"ปากแบ่ง"


“อ้าย...น้องขอไล่เงินก่อนเด้อ เดี๋ยวเฮาจะปิดฮ้านตอน 10 โมง”เจ้าของร้านอาหารริมแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบ่ง เดินมาบอกกับผม ขณะที่กำลังนั่งฟังเสียงลมพัดหวิวเพลินๆอยู่ริมระเบียงร้าน

แปลความหมายจากคำพูด คือน้องเจ้าของร้านเขามาขอคิดเงินค่าอาหารก่อน เพราะร้านของเขากำลังจะปิดตอน 4 ทุ่ม

ผมมองนาฬิกา ตอนนั้นเพิ่งจะ 3 ทุ่ม กับ 40 นาที

ย่ำค่ำในเมืองปากแบ่งตอนต้นปี 2553 อากาศเย็นจนถึงถึงกับหนาว ยิ่งมีลมพัดมาเรื่อยๆ ความหนาวเหน็บยิ่งเพิ่มมากขึ้น

แต่เป็นความหนาวที่บริสุทธิ์ เพราะพื้นที่ซึ่งรายล้อมอยู่เต็มไปด้วยป่าเขา ดังนั้น แม้ว่าจะรู้สึกหนาวเย็นเพียงใด แต่ก็คุ้มค่า ถ้าได้แลกกับความเพลิดเพลินในการนั่งชื่นชมธรรมชาติ

แปลงผักริมแม่น้ำโขงของชาวบ้านปากแบ่ง


ผมเพิ่งมาถึงปากแบ่งเมื่อตอน 5 โมงเย็น เช็คอินเข้าเฮือนพัก อาบน้ำอาบท่า เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วออกจากเฮือนพักเพื่อหาอาหารเย็นกินเมื่อตอนเกือบๆจะ 1 ทุ่ม



เพิ่งใช้เวลาชื่นชมกับบรรยากาศริมแม่น้ำโขงยามค่ำคืนของเมืองปากแบ่งไปไม่ถึง 3 ชั่วโมงดี



ความจริงจากหน้าด่านห้วยโก๋นมาถึงเมืองปากแบ่งใช้เวลาไม่นานนัก  ขับรถประมาณชั่วโมงเศษๆเท่านั้น



ระยะทางจากหน้าด่าน ผ่านเมืองเงิน เมืองปากห้วยแคน ถึงปากแบ่ง ยาวประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร แม้เป็นเส้นทางข้ามผ่านภูเขา แต่ก็ถือว่าไม่สูงชันมาก



เพียงแต่ถนนที่กำลังก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ มีบางช่วงบางตอนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง การเดินทางจึงลำบากขึ้นเล็กน้อย



จะเสียเวลาอีกช่วงหนึ่ง ประมาณ 15-20 นาที ก็ตอนรอขับรถขึ้นเรือบั๊ก(แพขนานยนต์) ที่เมืองปากห้วยแคน เพื่อข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองปากแบ่ง

เมืองปากแบ่งยาม 5 โมงเย็น


แต่ที่ผมมาถึงที่นี่ช้า เพราะว่ากว่าล้อจะเริ่มหมุนออกจากตัวเมืองน่าน ก็ปาเข้าไป 10 โมงครึ่ง

จากตัวเมืองน่านขับรถมาตามถนนสาย 1080 ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ถึงหน้าด่านห้วยโก๋น กว่าจะผ่านพิธีการ ข้ามพรมแดนมาได้ ก็บ่ายโมงครึ่ง


แถมยังไปขับรถเล่นชมเมืองเงิน แวะหาของกินมื้อกลางวัน เริ่มออกเดินทางจากเมืองเงินเพื่อมาที่ปากแบ่ง ก็เกือบบ่าย 3 เข้าไปแล้ว



เมืองปากแบ่ง อยู่ในแขวงอุดมไชย มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดนกับแขวงไชยะบุรี



ปากแบ่งเป็นเมืองริมแม่น้ำโขงที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ช่วงต้นปี 2553 ที่ผมได้ขับรถมาที่นี่ ปากแบ่งเพิ่งจะเริ่มมีไฟฟ้าใช้ได้เพียง 2 เดือน แต่ก็ยังใช้ได้ไม่เต็มที่



การใช้ชีวิตของชุมชนโดยรวม จึงอยู่กันอย่างเงียบสงบ ตามวิถีดั้งเดิม



ตั้งแต่เช้ามืด จนถึงบ่ายแก่ๆ ของแต่ละวัน ปากแบ่งเป็นเหมือนหมู่บ้านในชนบทของลาวทั่วไป

แต่เมื่อถึงเวลา 5 โมงเย็น จนหัวค่ำ ปากแบ่งจะ "ตื่น" ขึ้นมาทันที ด้วยเพราะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากโลกตะวันตกที่มุ่งหน้าเดินทางไปยังหลวงพระบางและกำลังกลับจากหลวงพระบางเพื่อไปยังห้วยทราย

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ !!!

เรือขึ้นล่องตามลำน้ำโขงระหว่างหลวงพระบาง-ห้วยทราย


เพราะปากแบ่งเป็นเมืองกึ่งกลางของการขึ้น-ล่องแม่น้ำโขง ระหว่างเมืองห้วยทราย กับหลวงพระบาง



เรือที่ออกจากห้วยทรายตอนเช้า จะล่องมาถึงปากแบ่งตอนประมาณ 5-6 โมงเย็น ในทางกลับกัน เรือที่ขึ้นมาจากหลวงพระบางในตอนเช้า ก็จะมาถึงปากแบ่งประมาณ 5-6 โมงเย็นเช่นกัน



เพราะฉนั้น คนที่เดินทางระหว่างห้วยทรายกับหลวงพระบาง ด้วยการโดยสารเรือผ่านลำน้ำโขง จำเป็นต้องแวะพักค้างคืนครึ่งทาง ที่เมืองปากแบ่ง



ผู้โดยสารส่วนใหญ่คือนักท่องเที่ยว และเป็นชาวต่างชาติ



ดังนั้นบ้านเรือนของชาวปากแบ่งหลายหลัง จึงถูกดัดแปลงให้เป็นเรือนพัก มีระดับราคาตั้งแต่ 300-500-800-1,000 กว่าบาท ไปจนถึงห้องพักระดับหรู 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืน



รวมถึงร้านอาหารที่เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำโขง ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวเหล่านี้

นักท่องเที่ยวที่เพิ่งมาจากเรือเดินหาห้องพัก

ร้านอาหารริมแม่น้ำโขง

แต่ปากแบ่งจะมีชีวิตชีวา เพียงจากย่ำค่ำไปจนถึง 4 ทุ่มครึ่งเท่านั้น

วิถีชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งยังคงยึดวัตรปฏิบัติแต่ดั้งเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีคนต่างถิ่นเข้ามาท่องเที่ยวและนำเงินมาใช้จ่ายที่นี่เป็นจำนวนมาก

กระแสไฟฟ้าที่เพิ่งเข้าไปถึงยังเมืองนี้เพียง 2 เดือน ทำให้ไฟฟ้ายังมีให้ใช้ไม่เพียงพอ บ้านเรือน ร้านรวง และร้านอาหาร ต้องปิดไฟกันตามกำหนดตอน 4 ทุ่มครึ่ง แม้ว่าบางร้านจะมีเครื่องปั่นไฟเองก็ตาม

นี่คือเสน่ห์ของปากแบ่ง.....

หลังจากน้องเจ้าของร้านมาขอคิดเงินค่าอาหาร ผมจ่ายเงิน และนั่งชมบรรยากาศที่ริมระเบียงร้านต่อไปอีกประมาณ 10 นาที จากนั้นก็เดินข้ามถนน ขึ้นไปนั่งเพลิดเพลินต่อบนระเบียงหน้าห้องพักแทน

เหลียวมองนาฬิกา เวลา 4 ทุ่มตรง เริ่มมีเสียงร้านรวงปิดประตู เสียงเพลงจากร้านอาหารที่เคยดังอยู่เมื่อครึ่งชั่วโมงก่อน ค่อยๆเงียบลง เงียบลง ทีละน้อย

และทันที เมื่อนาฬิกาบอกเวลา 4 ทุ่มครึ่ง สภาพเมืองปากแบ่งดูไม่แตกต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งได้รับคำสั่ง shut down

แสงไฟทั้งเมืองดับวูบลง ความมืดเข้าแทนที่ จากเสียงที่เคยระงม กลับเงียบกริบ ไม่มีสรรพเสียงใดๆ นอกจากเสียงที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ

เมืองแห่งนี้กลับสู่ความเป็นเมืองชนบทของลาวอีกครั้ง เงียบสงบท่ามกลางขุนเขา ได้ยินแต่เสียงสายน้ำ และหรีดหริ่งเรไร เท่านั้น

อาจมีเสียงแปลกปลอมแทรกเข้ามาบ้าง คือเสียงของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อาจยังติดลม หรือไม่ก็หาทางกลับที่พักไม่เจอเพราะความมืด เดินบ่นกับตัวเอง หรือบ่นกับกลุ่มเพื่อน แต่ก็แว่วให้ได้ยินมาเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

กระแสไฟฟ้าในเมืองปากแบ่งเริ่มกลับคืนมาตอนใกล้ตี 5 เมื่อเริ่มเข้าสู่วันใหม่

วิถีท้องถิ่นของปากแบ่งเริ่มปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง

พระสงฆ์ออกบิณฑบาตรยามเช้า

เหล่านักเรียนเตรียมเดินทางไปโรงเรียน


เริ่มมีเสียงผู้คนพูดคุยกัน ชาวบ้านออกมายืนรอพระสงฆ์ที่กำลังเดินลงมาบินฑบาตร และที่ตลาดเช้า พ่อค้าแม่ขายเริ่มจัดเรียงสินค้า และตั้งแผงค้ากันให้ทันเริ่มขายในเวลา 7 โมง

พร้อมกับขบวนของนักเรียนที่มีทั้งเดินเป็นกลุ่มขี่จักรยานเดี่ยวๆ หรือเป็นคู่ๆ เพื่อไปให้ทันเข้าเรียนยังโรงเรียนที่ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนออกไปเกือบ 5 กิโลเมตร

นักท่องเที่ยวเดินออกมาจากที่พัก เพื่อหาอาหารเช้ารับประทาน ก่อนเดินทางต่อ

เป็นวัฏจักรชีวิตที่น่ารักของ"ปากแบ่ง".....



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น