วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“ผานม”ชุมชนไทลื้อหลวงพระบาง



ออกจากเมืองแบ่ง ศูนย์กลางซื้อ-ขายวัตถุดิบ(ดอกต้นก๋ง)ในการผลิตไม้กวาดที่ส่งออกกลับมายังประเทศไทยเพื่อมามาบรรจบกับเส้นทางสาย 13(เหนือ) ที่เมืองไชย เมืองเอกของแขวงอุดมไชย ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

จากจุดนี้ เมื่อต้องเดินทางลงไปยังหลวงพระบาง ใช้ระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่วิ่งอยู่บนเขาประมาณ 90 กิโลเมตร

ในวันที่ผมใช้ถนนเส้นนี้เมื่อต้นปี 2553 สภาพถนนแม้มีหลุมมีบ่ออยู่บ้าง แต่ก็ถือว่ายังใช้ได้ มีปริมาณรถที่ใช้ถนนสายนี้พอสมควร

แถมบางช่วง ยังพบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชาวตะวันตกทั้งหญิง-ชาย มาปั่นจักรยานกัน ซึ่งมีทั้งปั่นเป็นกลุ่มๆ และปั่นเดี่ยวๆ

ป้ายบอกเส้นทางที่เมืองไชย

พอลงจากเขาจะพบกับสามแยกน้ำบากซึ่งต้องเลี้ยวขวา เพราะหากตรงไปจะเข้าไปเส้นทางสู่เมืองหัวพันของแขวงซำเหนือ

จากสามแยกน้ำบากเป็นต้นมา สภาพถนนเรียบเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีหลุมบ่อ และมีบางช่วงที่เป็นถนนเลียบไปกับแม่น้ำอู

ผมออกเดินทางจากเมืองไชยประมาณ 10 โมงเช้า และมาถึงหลวงพระบางประมาณเกือบ 4 โมงเย็น เพราะมีการแวะพักระหว่างทางเป็นระยะ

แม่น้ำอู

หลวงพระบางในวันที่ผมมาถึงนั้น กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ แม้ว่ายังคงอนุรักษ์จุดเด่นของเมืองที่เป็นมรดกโลกเอาไว้ในหลายๆจุด เช่นการห้ามสร้างอาคารเกิน 2 ชั้น ในบริเวณศูนย์กลางของตัวเมือง

แต่กระแสทุนก็พยายามเจาะแทรกเข้าไปได้แล้วในหลายๆจุดเช่นกัน

นักท่องเที่ยวเดินกันคราคร่ำริมฝั่งโขง บ้านเรือนถูกปรับสภาพขึ้นมาเป็นร้านอาหาร เฮือนพัก และมีโรงแรมสร้างใหม่เปิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

เรื่องราวของหลวงพระบางคงไม่สามารถบรรยายในตอนนี้ได้ทั้งหมด ผมคิดว่าต้องเดินทางมายังเมืองนี้อีกหลายรอบ เพื่อสะสมข้อมูลและค้นหามุมมองใหม่ๆ ค่อยนำมาเล่าแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่ง...

แต่สำหรับการเดินทางมายังหลวงพระบางครั้งนี้ ผมพยายามหาสถานที่ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นเมืองหลวงพระบาง ที่ไม่ใช่เป็นหลวงพระบางในมิติ-มุมมองของชาวตะวันตก

หมู่บ้านผานม

มีคนแนะนำให้ผมลองไปเที่ยวยังชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งยังพยายามคงเสน่ห์ของความเป็นหลวงพระบางในอดีตเอาไว้ มีชื่อว่าหมู่บ้าน”ผานม”

บ้านผานมเป็นชุมชนไทลื้อดั้งเดิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคาน ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 4 กิโลเมตร  มีประชากรอยู่ประมาณ 250 หลังคาเรือน

เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชาวไทลื้อก็คือการทอผ้า บ้านของคนไทลื้อมักสร้างเป็นบ้านใต้ถุนสูง ที่ใต้ถุนจะมีกี่ทอผ้าประจำไว้ทุกบ้าน

ลูกสาวของคนไทลื้อจะถูกสอนให้ทอผ้าเป็นตั้งแต่ยังเด็ก

ส่วนเสาบ้านของไทลื้อจะไม่ฝังลงไปในดิน แต่จะวางเสาไว้บนหลักหิน เล่ากันว่าเผื่อต้องการย้ายบ้าน สามารถยกบ้านไปได้ทั้งหลัง !!!

บ้านไทลื้อดั้งเดิมที่วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน

ที่บ้านผานม กลิ่นอายของชุมชนไทลื้อเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะสภาพของบ้านเรือน มีการประยุกต์รูปแบบบ้านให้เข้ากับยุคสมัย บ้านใต้ถุนสูงแบบไทลื้อดั้งเดิมมีเหลืออยู่น้อย บ้านบางหลังกั้นผนังในส่วนที่เคยเป็นใต้ถุนให้เป็นชั้นล่าง และมีการก่อสร้างบ้านในรูปทรงสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น

บ้านที่ถูกประยุกต์หรือสร้างใหม่ ในบ้านผานม

แต่สิ่งที่บ้านผานมพยายามคงเอกลักษณ์สำคัญของไทลื้อเอาไว้ ก็คือการทอผ้า

ในอดีต บ้านผานมเคยเป็นแหล่งทอผ้าถวายให้กับเจ้ามหาชีวิตและราชสำนักของหลวงพระบาง ปัจจุบันผ้าทอจากบ้านผานมมีชื่อเสียงมาก มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านตั้งเป็นศูนย์หัตถกรรมทอผ้า มีการสาธิตกระบวนการทอผ้า รวมถึงผลิตเป็นสินค้าให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ผ้าผืน เสื้อผ้า กระเป๋า ย่ามฯลฯ

สาธิตการทอผ้า

ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน มาช่วยขายผ้า

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าที่ทำมาจากเครื่องเงิน สาธิตการทำเครื่องเงิน  รวมถึงนำศิลปวัตถุ รวมถึงวัตถุโบราณที่เป็นสัญลักษณ์ของหลวงพระบางในอดีตมาแสดงไว้ด้วย

สาธิตการทำเครื่องเงิน

ของที่ถูกแสดงอยู่ในศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงินของบ้านผานม มีตั้งแต่ภาพของเจ้ามหาชีวิตในอดีต รูปภาพเมืองในสมัยก่อน เงินกีบของลาวที่เคยถูกใช้ตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลองมโหระทึกที่ทำจากโลหะ ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นโต๊ะฯลฯ

ที่สำคัญคือมีรัฐธรรมนูญของลาว ในสมัยที่ยังไม่ได้ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ถูกนำมาโชว์ไว้ในตู้ด้วย

รัฐธรรมนูญลาว สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กลองมโหระทึกที่นำมาประยุกต์เป็นโต๊ะ

ได้เดินเล่นชมสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านผานม ได้รับถึงความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการเดินเล่นริมแม่น้ำโขงของเมืองหลวงพระบาง

บรรยากาศทั่วไปของผานมยังคงความเป็นบ้านๆ และเป็นบ้านๆแบบไทๆ คล้ายๆกับบรรยากาศของชุมชนในภาคเหนือของประเทศไทย ยุคสมัยเมื่อประมาณสัก 20 กว่าปีก่อน

ซึ่งเป็นยุคที่ความเจริญตามระบบทุนเพิ่งเริ่มต้นเข้าไปถึง...

วิถีแบบไทๆของชาวบ้านผานม

ผมใช้เวลาเดินเล่นอยู่ในหมู่บ้านผานมประมาณ 2 ชั่วโมง ซึมซาบกับภาพต่างๆที่พบเห็นเอาไว้พอสมควร

สิ่งที่อยู่ในหัว ตอนที่กำลังจะออกจากหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อเดินทางกลับเข้าไปในเมืองหลวงพระบาง ผมคิดเพียงแค่ว่า ถ้ามาครั้งหน้าขออย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมได้พบเห็นในการมาเยือนครั้งนี้มากนัก

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว !!!



วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

”ไม้กวาด”ไทย Made from Laos



เส้นทางหมายเลข 2 จากเมืองปากแบ่งไปยังเมืองไชยระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เลาะคู่ขนานไปกับแม่น้ำแบ่ง

ถนนสายนี้วิ่งผ่านชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนแต่ละแห่งเป็นของชนเผ่า หรือชาติพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่ม้ง ขมุ ไทดำ ไทลื้อ รวมถึงชุมชนที่เป็นคนลาวลุ่มที่ขึ้นมาปักหลักหากินอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ

มีชุมชนใหญ่ระดับเมือง 2 เมืองด้วยกัน คือที่เมืองฮุ่น และเมืองแบ่ง

เมืองแบ่ง ชุมชนของชาวไทลื้อ

ที่เมืองแบ่ง ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเมืองฮุ่น ผมได้พบกับข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง

เป็นเรื่องของไม้กวาดครับ...

คนที่เคยขับรถขึ้นเหนือ ผ่านทางจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิถต์ แพร่ ที่สามารถแยกไปเชียงใหม่ เชียงราย และน่านได้ที่แยกเด่นชัย มักพบเห็นแผงขายไม้กวาดเรียงรายอยู่ตามริมทาง ตั้งแต่ออกจากตัวเมืองอุตรดิถต์จนมาถึงแยกเด่นชัย

เรียกว่าน่าน พะเยา อุตรดิถต์ แพร่ รวมถึงบางอำเภอในจังหวัดลำปาง เป็นแหล่งผลิตไม้กวาดที่สำคัญของไทย

ก่อนที่ผมจะได้พบกับข้อมูลใหม่ที่เมืองแบ่ง ผมเข้าใจมาตลอดว่า ไม้กวาดเหล่านี้ทำในประเทศไทยทั้งหมด

ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องนัก

ผมเพิ่งมาทราบข้อเท็จจริง ก็ตอนเดินทางเข้าลาวผ่านทางเมืองแบ่งนี่เอง ว่าวัตถุดิบสำคัญของไม้กวาด คือส่วนที่เป็นขนแปรงสำหรับกวาด ซึ่งทำมาจากดอกของต้นก๋งนั้น

ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ด้วย นำเข้ามาจากลาว ซึ่งแหล่งผลิตก็อยู่ตามเมืองต่างๆ ในแขวงไชยะบุรี และอุดมไชยนี่เอง

เมืองแบ่งเป็นเมืองหนึ่งที่ใช้เป็นศูนย์กลางซื้อขายดอกต้นก๋ง

ดอกต้นก๋ง ซึ่งส่วนหนึ่งกำลังถูกตากแห้ง และอีกส่วนหนึ่งถูกมัดรวมกันแล้ว ที่เมืองแบ่ง

ดอกก๋งซึ่งถูกตากไว้ในลานเดียวกันกับข้าวโพด หน้าตลาดกลางของหมู่บ้าน

ต้นก๋งเป็นหญ้าชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Gramineae ชื่อสามัญเรียกว่า Bamboo grass ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Thysanoleana maxima Kuntze

ในประเทศไทย ต้นก๋งมีชื่อเรียกหลายอย่างตามพื้นที่ต่างๆที่พบ เช่น ก๋ง หรือตองกงในภาคเหนือ เค้ยหลาที่แม่ฮ่องสอน เลาแล้งที่สุโขทัย หญ้ากาบไผ่ใหญ่ที่เลย หญ้าไม้กวาด หรือหญ้ายูงที่ยะลา

ลักษณะของต้นก๋ง มีลำต้นตรงคล้ายต้นไผ่ ใบเป็นรูปขอบขนาน มักจะออกดอกในช่วงหน้าแล้ง โดยออกเป็นช่อยาวขนาดใหญ่ที่ปลายยอด บางช่อยาวได้ถึงครึ่งเมตร

ดอกของต้นก๋งนี่เอง ที่ถูกนำมาทำเป็นส่วนแปรงของไม้กวาด โดยต้องตัดดอกจากก้านดอก แล้วนำดอกที่ตัดแล้วมาตากแห้ง ทุบเม็ดออกจากก้านดอก เมื่อแห้งแล้วนำมามัดขึ้นเป็นรูปไม้กวาดติดกับส่วนที่เป็นด้าม จากนั้นถักขอบด้วยพลาสติกเพื่อไม่ให้ดอกก๋งหลุดง่ายเวลาใช้งาน

วันที่ไปถึงนั้นยังอยูในช่วงฤดูหนาว ชาวบ้านเมืองแบ่งบางส่วนจึงออกมานั่งตากแดดยามเช้า

ความจริง ตั้งแต่เริ่มเดินทางออกจากน่าน โดยเฉพาะทางช่วงขึ้นเขาสูง ก่อนจะถึงด่านห้วยโก๋น ผมพบเห็นชาวบ้านเดินแบกมัดดอกต้นก๋งสวนทางไปเป็นระยะ ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไรมาก เพราะคิดว่าเป็นอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่งของชาวบ้าน นอกเหนือจากการทำพืชไร่

จนเริ่มเข้ามาในเขตลาว เริ่มสังเกตุเห็นว่า ปริมาณชาวบ้านที่เดินแบกมัดดอกต้นก๋งที่พบตามรายทางนั้น มีจำนวนมากกว่าที่พบตอนอยู่ในเขตประเทศไทย

อาจเป็นเพราะว่าในระยะหลัง ความต้องการใช้ไม้กวาดใสไทยอาจจะเพิ่มสูงขึ้น หรือปริมาณต้นก๋งในไทยอาจมีจำนวนลดน้อยลงก็ไม่ทราบได้ ทำให้ชุมชนที่ผลิตไม้กวาดในไทย ตามจังหวัดต่างๆในแถบภาคเหนือ จำเป็นต้องออกมาหาซื้อดอกต้นก๋งถึงในลาว

ชาวบ้านตามชุมชนต่างๆในลาวจึงมีอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น ด้วยการตัดดอกก๋งมาตากแห้ง แล้วมัดขายเป็นกิโลกรัมแก่ชุมชนผู้ผลิตไม้กวาด

และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแห่งเดียวนะครับที่เป็นมาซื้อดอกต้นก๋งจากที่นี่

มีผู้ผลิตไม้กวาดจากจีน ก็มาอาศัยดอกต้นก๋งของลาว เป็นวัตถุดิบในการผลิตไม้กวาดด้วยเหมือนกัน !!!

ดอกก๋งที่ถูกวางเรียงไว้รอมัด ชั่งกิโล ก่อนลำเลียงขึ้นรถ

รถที่มารับซื้อดอกต้นก๋ง จากการสอบถาม รถคันนี้มาจากจีน

จากที่ได้เดินไปสอบถามราคากับร้านที่เป็นผู้รวบรวมและขายดอกต้นก๋ง ราคาดอกต้นก๋งจากไทยจะสูงกว่าจีน เพราะไทยซื้อดอกก๋งแบบเอาเฉพาะดอก จึงต้องตัดก้านดอกให้สั้น ราคาตกอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 40 บาท

ส่วนผู้ซื้อจากจีนนิยมซื้อดอกต้นก๋งรวมทั้งก้าน คือทิ้งก้านยาวๆเอาไว้ก่อนมัดรวมกัน ราคาจึงต่ำกว่า ตกกิโลกรัมละ 30 บาท

เป็นราคาที่ผมได้สอบถามมาเมื่อต้นปี 2553

คิดไม่ถึงจริงๆครับว่า ของใช้ประจำและใกล้ตัวภายในบ้าน เป็นสินค้า Import กับเขาเหมือนกัน



วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วัฏจักรชีวิต"ปากแบ่ง"


“อ้าย...น้องขอไล่เงินก่อนเด้อ เดี๋ยวเฮาจะปิดฮ้านตอน 10 โมง”เจ้าของร้านอาหารริมแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบ่ง เดินมาบอกกับผม ขณะที่กำลังนั่งฟังเสียงลมพัดหวิวเพลินๆอยู่ริมระเบียงร้าน

แปลความหมายจากคำพูด คือน้องเจ้าของร้านเขามาขอคิดเงินค่าอาหารก่อน เพราะร้านของเขากำลังจะปิดตอน 4 ทุ่ม

ผมมองนาฬิกา ตอนนั้นเพิ่งจะ 3 ทุ่ม กับ 40 นาที

ย่ำค่ำในเมืองปากแบ่งตอนต้นปี 2553 อากาศเย็นจนถึงถึงกับหนาว ยิ่งมีลมพัดมาเรื่อยๆ ความหนาวเหน็บยิ่งเพิ่มมากขึ้น

แต่เป็นความหนาวที่บริสุทธิ์ เพราะพื้นที่ซึ่งรายล้อมอยู่เต็มไปด้วยป่าเขา ดังนั้น แม้ว่าจะรู้สึกหนาวเย็นเพียงใด แต่ก็คุ้มค่า ถ้าได้แลกกับความเพลิดเพลินในการนั่งชื่นชมธรรมชาติ

แปลงผักริมแม่น้ำโขงของชาวบ้านปากแบ่ง


ผมเพิ่งมาถึงปากแบ่งเมื่อตอน 5 โมงเย็น เช็คอินเข้าเฮือนพัก อาบน้ำอาบท่า เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วออกจากเฮือนพักเพื่อหาอาหารเย็นกินเมื่อตอนเกือบๆจะ 1 ทุ่ม



เพิ่งใช้เวลาชื่นชมกับบรรยากาศริมแม่น้ำโขงยามค่ำคืนของเมืองปากแบ่งไปไม่ถึง 3 ชั่วโมงดี



ความจริงจากหน้าด่านห้วยโก๋นมาถึงเมืองปากแบ่งใช้เวลาไม่นานนัก  ขับรถประมาณชั่วโมงเศษๆเท่านั้น



ระยะทางจากหน้าด่าน ผ่านเมืองเงิน เมืองปากห้วยแคน ถึงปากแบ่ง ยาวประมาณ 50 กว่ากิโลเมตร แม้เป็นเส้นทางข้ามผ่านภูเขา แต่ก็ถือว่าไม่สูงชันมาก



เพียงแต่ถนนที่กำลังก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ มีบางช่วงบางตอนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง การเดินทางจึงลำบากขึ้นเล็กน้อย



จะเสียเวลาอีกช่วงหนึ่ง ประมาณ 15-20 นาที ก็ตอนรอขับรถขึ้นเรือบั๊ก(แพขนานยนต์) ที่เมืองปากห้วยแคน เพื่อข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองปากแบ่ง

เมืองปากแบ่งยาม 5 โมงเย็น


แต่ที่ผมมาถึงที่นี่ช้า เพราะว่ากว่าล้อจะเริ่มหมุนออกจากตัวเมืองน่าน ก็ปาเข้าไป 10 โมงครึ่ง

จากตัวเมืองน่านขับรถมาตามถนนสาย 1080 ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร ถึงหน้าด่านห้วยโก๋น กว่าจะผ่านพิธีการ ข้ามพรมแดนมาได้ ก็บ่ายโมงครึ่ง


แถมยังไปขับรถเล่นชมเมืองเงิน แวะหาของกินมื้อกลางวัน เริ่มออกเดินทางจากเมืองเงินเพื่อมาที่ปากแบ่ง ก็เกือบบ่าย 3 เข้าไปแล้ว



เมืองปากแบ่ง อยู่ในแขวงอุดมไชย มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดนกับแขวงไชยะบุรี



ปากแบ่งเป็นเมืองริมแม่น้ำโขงที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ช่วงต้นปี 2553 ที่ผมได้ขับรถมาที่นี่ ปากแบ่งเพิ่งจะเริ่มมีไฟฟ้าใช้ได้เพียง 2 เดือน แต่ก็ยังใช้ได้ไม่เต็มที่



การใช้ชีวิตของชุมชนโดยรวม จึงอยู่กันอย่างเงียบสงบ ตามวิถีดั้งเดิม



ตั้งแต่เช้ามืด จนถึงบ่ายแก่ๆ ของแต่ละวัน ปากแบ่งเป็นเหมือนหมู่บ้านในชนบทของลาวทั่วไป

แต่เมื่อถึงเวลา 5 โมงเย็น จนหัวค่ำ ปากแบ่งจะ "ตื่น" ขึ้นมาทันที ด้วยเพราะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากโลกตะวันตกที่มุ่งหน้าเดินทางไปยังหลวงพระบางและกำลังกลับจากหลวงพระบางเพื่อไปยังห้วยทราย

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ !!!

เรือขึ้นล่องตามลำน้ำโขงระหว่างหลวงพระบาง-ห้วยทราย


เพราะปากแบ่งเป็นเมืองกึ่งกลางของการขึ้น-ล่องแม่น้ำโขง ระหว่างเมืองห้วยทราย กับหลวงพระบาง



เรือที่ออกจากห้วยทรายตอนเช้า จะล่องมาถึงปากแบ่งตอนประมาณ 5-6 โมงเย็น ในทางกลับกัน เรือที่ขึ้นมาจากหลวงพระบางในตอนเช้า ก็จะมาถึงปากแบ่งประมาณ 5-6 โมงเย็นเช่นกัน



เพราะฉนั้น คนที่เดินทางระหว่างห้วยทรายกับหลวงพระบาง ด้วยการโดยสารเรือผ่านลำน้ำโขง จำเป็นต้องแวะพักค้างคืนครึ่งทาง ที่เมืองปากแบ่ง



ผู้โดยสารส่วนใหญ่คือนักท่องเที่ยว และเป็นชาวต่างชาติ



ดังนั้นบ้านเรือนของชาวปากแบ่งหลายหลัง จึงถูกดัดแปลงให้เป็นเรือนพัก มีระดับราคาตั้งแต่ 300-500-800-1,000 กว่าบาท ไปจนถึงห้องพักระดับหรู 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืน



รวมถึงร้านอาหารที่เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำโขง ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวเหล่านี้

นักท่องเที่ยวที่เพิ่งมาจากเรือเดินหาห้องพัก

ร้านอาหารริมแม่น้ำโขง

แต่ปากแบ่งจะมีชีวิตชีวา เพียงจากย่ำค่ำไปจนถึง 4 ทุ่มครึ่งเท่านั้น

วิถีชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งยังคงยึดวัตรปฏิบัติแต่ดั้งเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีคนต่างถิ่นเข้ามาท่องเที่ยวและนำเงินมาใช้จ่ายที่นี่เป็นจำนวนมาก

กระแสไฟฟ้าที่เพิ่งเข้าไปถึงยังเมืองนี้เพียง 2 เดือน ทำให้ไฟฟ้ายังมีให้ใช้ไม่เพียงพอ บ้านเรือน ร้านรวง และร้านอาหาร ต้องปิดไฟกันตามกำหนดตอน 4 ทุ่มครึ่ง แม้ว่าบางร้านจะมีเครื่องปั่นไฟเองก็ตาม

นี่คือเสน่ห์ของปากแบ่ง.....

หลังจากน้องเจ้าของร้านมาขอคิดเงินค่าอาหาร ผมจ่ายเงิน และนั่งชมบรรยากาศที่ริมระเบียงร้านต่อไปอีกประมาณ 10 นาที จากนั้นก็เดินข้ามถนน ขึ้นไปนั่งเพลิดเพลินต่อบนระเบียงหน้าห้องพักแทน

เหลียวมองนาฬิกา เวลา 4 ทุ่มตรง เริ่มมีเสียงร้านรวงปิดประตู เสียงเพลงจากร้านอาหารที่เคยดังอยู่เมื่อครึ่งชั่วโมงก่อน ค่อยๆเงียบลง เงียบลง ทีละน้อย

และทันที เมื่อนาฬิกาบอกเวลา 4 ทุ่มครึ่ง สภาพเมืองปากแบ่งดูไม่แตกต่างจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งได้รับคำสั่ง shut down

แสงไฟทั้งเมืองดับวูบลง ความมืดเข้าแทนที่ จากเสียงที่เคยระงม กลับเงียบกริบ ไม่มีสรรพเสียงใดๆ นอกจากเสียงที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ

เมืองแห่งนี้กลับสู่ความเป็นเมืองชนบทของลาวอีกครั้ง เงียบสงบท่ามกลางขุนเขา ได้ยินแต่เสียงสายน้ำ และหรีดหริ่งเรไร เท่านั้น

อาจมีเสียงแปลกปลอมแทรกเข้ามาบ้าง คือเสียงของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อาจยังติดลม หรือไม่ก็หาทางกลับที่พักไม่เจอเพราะความมืด เดินบ่นกับตัวเอง หรือบ่นกับกลุ่มเพื่อน แต่ก็แว่วให้ได้ยินมาเป็นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

กระแสไฟฟ้าในเมืองปากแบ่งเริ่มกลับคืนมาตอนใกล้ตี 5 เมื่อเริ่มเข้าสู่วันใหม่

วิถีท้องถิ่นของปากแบ่งเริ่มปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง

พระสงฆ์ออกบิณฑบาตรยามเช้า

เหล่านักเรียนเตรียมเดินทางไปโรงเรียน


เริ่มมีเสียงผู้คนพูดคุยกัน ชาวบ้านออกมายืนรอพระสงฆ์ที่กำลังเดินลงมาบินฑบาตร และที่ตลาดเช้า พ่อค้าแม่ขายเริ่มจัดเรียงสินค้า และตั้งแผงค้ากันให้ทันเริ่มขายในเวลา 7 โมง

พร้อมกับขบวนของนักเรียนที่มีทั้งเดินเป็นกลุ่มขี่จักรยานเดี่ยวๆ หรือเป็นคู่ๆ เพื่อไปให้ทันเข้าเรียนยังโรงเรียนที่ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนออกไปเกือบ 5 กิโลเมตร

นักท่องเที่ยวเดินออกมาจากที่พัก เพื่อหาอาหารเช้ารับประทาน ก่อนเดินทางต่อ

เป็นวัฏจักรชีวิตที่น่ารักของ"ปากแบ่ง".....



วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขับรถเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน



ตัวเลขหลักกิโลเมตรบนหน้าปัด อยู่ที่ 5,000 บ่งบอกถึงสภาพการใช้งานของรถคันนี้ว่า เพิ่งวิ่งมาได้เพียง 5,000 กิโลเมตร นับตั้งแต่ที่ออกมาได้เมื่อเกือบ 6 เดือนก่อน

ผมซื้อรถคันนี้ เมื่อปลายเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2552 แต่ช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ได้ขับไปไกลมากนัก

ทั้งๆที่ความตั้งใจในการซื้อรถใหม่ เพราะอยากจะขับรถเล่นไปตามสถานที่ต่างๆ ที่เคยมั่นหมายเอาไว้ในใจมานานแล้ว

การเป็นคนชอบเที่ยว แต่ไม่ชอบเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะคิดว่าการเดินทางโดยเครื่องบินทำให้สูญเสียโอกาสในการพบเห็นเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง


ผมจึงคิดว่าการขับรถเที่ยว คือการเดินทางท่องเที่ยวที่สนุก และมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆมากที่สุด

แม้ว่าอาจใช้เวลานานไปบ้าง เหนื่อยเมื่อยล้าอยู่บ้าง แต่เรื่องราวที่ได้ประสพพบเห็นระหว่างทาง มีความน่าสนใจจนสามารถลดทอนอุปสรรคเหล่านั้นลงไปได้ไม่มีเหลือ

สถานที่ซึ่งมั่นหมายเอาไว้ และตั้งใจจะทำทันทีเมื่อมีโอกาส คือการตระเวนขับรถท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆของประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย เป็น 4 ประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย มีถนนหนทางที่เชื่อมต่อข้ามประเทศกันได้

การได้มีโอกาสออกไปขับรถชมเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของเราเหล่านี้ โดยส่วนตัวของผมแล้ว มันคือ”กำไร”ชีวิตดีๆนี่เอง

เรื่องราวต่างๆที่ได้ประสพพานพบระหว่างการเดินทาง คือประสพการณ์ที่ผมจะนำมาแลกเปลี่ยน เล่าสู่ให้ทุกท่านได้อ่านกัน

เส้นทางสัญจรในประเทศเพื่อนบ้าน มีเรื่องราวหลากหลายให้เก็บเกี่ยวมาถ่ายทอดต่อ

จากจุดเริ่มต้น ที่หลักกิโลเมตร 5,000 บนหน้าปัด ในช่วงต้นปี 2553

เป้าหมายที่ตั้งใจจะขับรถไปเยือนเป็นแห่งแรก ก็คือ...

“หลวงพระบาง” เมืองมรดกโลกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ความจริง จากประเทศไทย เราสามารถขับรถไปถึงหลวงพระบางได้อยู่แล้ว

เส้นทางที่คนส่วนใหญ่เคยชิน และนิยมขับรถไปกัน คือเส้นทางจากจังหวัดหนองคาย ข้ามแม่น้ำโขงผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เข้าสู่นครหลวงเวียงจันทน์

จากนั้น ขับรถขึ้นไปตามเส้นทางสาย 13(เหนือ) ผ่านวังเวียง เมืองกาสี พูคูน ก่อนเข้าสู่หลวงพระบาง ระยะทางประมาณเกือบ 400 กิโลเมตร

เส้นทางตั้งแต่เมืองกาสีเป็นต้นไป เป็นเทือกเขาสูงชัน

แต่ผมเลือกใช้เส้นทางจากจังหวัดน่าน ออกจากประเทศไทยผ่านด่านห้วยโก๋น เข้าสู่เมืองเงิน แขวงไชยะบุรี


ด่านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

ตอนนั้น(ต้นปี 2553) การก่อสร้างถนนจากเมืองเงินไปยังเมืองปากแบ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปถึงหลวงพระบาง ระยะทางประมาณ 53 กิโลเมตร กำลังใกล้จะเสร็จ และก็เปิดให้รถวิ่งได้บ้างแล้ว


การก่อสร้างถนนสายเมืองเงิน-ปากแบ่ง ซึ่งเมื่อต้นปี 2553 กำลังใกล้จะแล้วเสร็จ

จากเมืองเงิน ซึ่งอยู่ในแขวงไชยะบุรี ขับรถไปประมาณ 38 กิโลเมตร จะถึงเมืองปากห้วยแคน ซึ่งอยู่ในแขวงไชยะบุรีเช่นกัน มีแม่น้ำโขงขวางกั้นอยู่ข้างหน้า

ที่จุดนี้จำเป็นต้องข้ามเรือบั๊ก(แพขนานยนต์) เพื่อข้ามไปยังเมืองปากแบ่งที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม


ท่าเรือบั๊กข้ามจากเมืองปากห้วยแคน ไปสู่เมืองปากแบ่ง


เมื่อข้ามแม่น้ำโขงมาแล้ว เส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองปากแบ่งระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นถนนเลียบแม่น้ำโขงตลอดแนว

เมืองปากแบ่ง อยู่ในแขวงอุดมไชย ซึ่งเป็นแขวงที่อยู่ติดกันทางทิศตะวันตกของแขวงหลวงพระบาง

ถนนที่ผมใช้ เป็นเส้นทางหมายเลข 2 ของลาว ทิศทางของถนนสายนี้วิ่งตัดจากชายแดนไทย ขวางประเทศลาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ


จากเมืองปากแบ่ง เมื่อวิ่งไปสักประมาณ 100 กิโลเมตรเศษ จะพบกับเมืองไชย ซึ่งเป็นเมืองหลักของแขวงอุดมไชย


ถนนสายนี้ ผ่านชุมชนหลายหมู่บ้าน หลากชนเผ่า ทั้งที่เป็นลาวลุ่ม ลาวเทิง และลาวสูง



สี่แยกที่เมืองไชย ซึ่งมีเส้นทางไปเชื่อมต่อพรมแดนลาวได้ถึง 3 ประเทศ

ที่เมืองไชย จะพบกับสี่แยก หากตรงไป จะเป็นเส้นทางหมายเลข 4 ตรงสู่เมืองใหม่ เมืองชายแดนลาว-เวียดนาม ที่มีถนนข้ามชายแดนต่อไปได้ถึงเมืองเดียนเบียนฟู

หากเลี้ยวซ้าย จะเป็นเส้นทางหมายเลข 13(เหนือ) วิ่งขึ้นเหนือไปสู่แขวงหลวงน้ำทา จนถึงเมืองบ่อเต็น เมืองชายแดนลาว-จีน ที่มีถนนเชื่อมต่อไปถึงเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา และนครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน


หากเลี้ยวขวา ยังคงเป็นเส้นทางสาย 13(เหนือ)เช่นกัน แต่เป็นถนนที่วิ่งลงใต้ เข้าสู่หลวงพระบาง และนครหลวงเวียงจันทน์


ระยะทางจากเมืองไชย สู่เมืองหลวงพระบาง ประมาณกว่า 170 กิโลเมตร แต่เป็นเส้นทางที่วิ่งเลาะเลี้ยวอยู่บนเขาเสีย 90 กิโลเมตร


เมื่อลงจากเขา จะพบกับสามแยกน้ำบาก หากตรงไปจะผ่านเมืองน้ำบาก และสามารถเดินทางต่อไปถึงเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนลาว


แต่หากจะไปหลวงพระบาง ต้องเลี้ยวขวาที่สามแยกนี้ เพื่อเดินทางต่อมาตามถนนสาย 13(เหนือ) ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่จะราบเรียบมากกว่าในช่วงแรก


บางช่วงของถนน จะวิ่งเลียบกับแม่น้ำอู


แม่น้ำอู
หากวิ่งรวดเดียว จากหน้าด่านห้วยโก๋น เข้าสู่เมืองเงิน ผ่านเมืองปากแบ่ง เมืองไชย สามแยกน้ำบาก ลงมาจนถึงเมืองหลวงพระบางแล้ว น่าจะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 6 ชั่วโมง

แต่ผมไม่ใช้วิธีนี้!!!


ผมเลือกที่จะแวะตามรายทางเพื่อเก็บเกี่ยวเรื่องราวต่างๆ เพื่อนำมาถ่ายทอด


ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร จากชายแดนไทย มาถึงเมืองหลวงพระบาง ต้องผ่านชุมชน หมู่บ้าน ได้พบเห็นอะไรหลายๆอย่างที่น่ารัก น่าสนใจ และมีเสน่ห์


และการเดินทางของผม มิใช่มีเพียงหลวงพระบางเป็นเป้าหมายเดียว


ในดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีเรื่องราวอีกหลากหลายกำลังจะถูกถ่ายทอดต่อ


การเดินทางของผมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ขอเชิญทุกท่าน ร่วมเดินทางไปพร้อมกันได้เลยครับ…..