วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

“เฮาเป็นคนไต”...เสียงจากบ้านห้วยส้าน


“เกิดเป็นคนไต หมู่เฮาต้องฮักจาดไต บ่หื้ใผ นั้นมายั่มยีข่มขี่ จาดไตเฮานี้ ต่างคนต่างมีศักดิ์สี
บ่หื้อใผยั่มยี ประเพณีไตเฮา

น้ำหนึ่งใจเดียว ฮ่วมกันเป็นเกี๋ยว ตวยกันเป็นหมู่ วัฒนธรรมเฮายังอยู่ อยู่กู่กับจาดเจี้ยไตเฮา
หมู่เฮายึดมั้น ในความสามัคคี บ่หื้อใผมาควี ประเพณีไตเฮา

ความกล้าหาญ นั้นอยู่ในจิต เฮาบ่ได้คิด สร้างความฮ้ายเสิ่มเสีย คิดสร้างแต่ความดี จะหื้อมีจื่อเสียงดังก้อง

(ซ้ำ)

คิดสร้างแต่ความดี จะหื้อมีจื่อเสียงดังก้อง...โลก”

เนื้อหาข้างต้น เป็นเนื้อร้องของเพลง“ไตสามัคคี” ซึ่งคัดลอกมาจากเอกสารที่แจกให้กับผู้ที่เดินทางไปร่วมงานบุญชาติ และงานปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม ที่จัดขึ้นบริเวณสนามกีฬา โรงเรียนบ้านห้วยส้าน ในช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา(2557) เพื่อให้ผู้ร่วมงานทุกคน สามารถร้องเพลงนี้ได้อย่างพร้อมเพรียงกัน ก่อนที่พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการจะเริ่มต้นในเวลาประมาณ 9.00 น.



                ชาวห้วยส้าน ร่วมร้องเพลง"ไตสามัคคี" ก่อนงานบุญชาติจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ

ในความรู้สึกของคนในชุมชนบ้านห้วยส้าน เพลง“ไตสามัคคี”ถือเป็นเพลงประจำกลุ่มชาติพันธุ์ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็น”เพลงชาติ”ของพวกเขานั่นเอง!!!

ชาวบ้านห้วยส้านเป็นคนไท...บรรพบุรุษของพวกเขามีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ในดินแดนล้านนา จากเมืองเชียงใหม่ ลำพูน เถิน แพร่ ฯลฯ มาก่อน

แล้วทำไมเขาจึงต้องมีเพลงชาติ ที่มีเนื้อหาแตกต่างจากเพลงชาติไทยของเราในปัจจุบัน???

คำตอบคือ...“บ้านห้วยส้าน”อยู่ในจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา(พม่า) ดังนั้น ชาวบ้านห้วยส้านจึงถือเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน ซึ่งถูกความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่กำหนดให้เป็นเขตแดนของประเทศพม่า

การจะมีเพลงประจำกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นเพลงเดียวกับเพลงชาติของอีกประเทศ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน…จึงเป็นเรื่องที่ดูกระไรอยู่

ผู้อาวุโสของบ้านห้วยส้าน คอยต้อนรับแขกที่มาร่วมงานบุญชาติ หน้าประตูทางเข้าโรงเรียน

ชาวห้วยส้าน เรียกตนเองว่าเป็นชาวไทโยน เพื่อบ่งบอกถึงที่มา ว่าเป็นคนที่มีพื้นเพจากดินแดนโยนก หรือล้านนา

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งชาวไทใหญ่ในรัฐฉานถือเป็น“วันชาติ”ของพวกเขา ชาวไทโยนบ้านห้วยส้าน ได้กำหนดให้วันเดียวกัน เป็น“วันแห่งชาติ”ของชาวไทด้วย

ชาวบ้านห้วยส้านพร้อมใจกันจัดงานบุญชาติ งานปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม และพิธีทำบุญสืบชะตาชาติขึ้น โดยงานที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13

ชาวไทโยนจากบ้านต่างๆ มาร่วมตัวกันในงานบุญชาติ บ้านห้วยส้าน

บรรยากาศงานบุญชาติ ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน

บ้านห้วยส้านเป็นชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว ก่อนที่ผืนแผ่นดินซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดเมียวดีปัจจุบัน จะถูกกำหนดให้เป็นอาณาเขตของประเทศพม่าเสียอีก

200 ปีก่อน เป็นช่วงที่อังกฤษเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าไปในพม่า โดยหวังช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ เป้าหมายสำคัญที่อังกฤษต้องการจากพม่ามากที่สุดคือไม้

อังกฤษทำสงครามครั้งแรกกับพม่าเมื่อ พ.ศ.2369 และเป็นฝ่ายชนะสงคราม ได้หัวเมืองมอญของพม่าซึ่งมีอาณาเขตติดกับดินแดนล้านนามาครอบครอง

หลังสงครามครั้งแรกสิ้นสุดได้ไม่นาน ในเมืองมอญเกิดโรคระบาด ทำให้โค กระบือล้มตายเป็นจำนวนมาก ข้าหลวงอังกฤษที่อยู่ในเมืองมะละแหม่ง จึงส่งตัวแทนมาติดต่อกับล้านนา เพื่อเจรจาขอซื้อช้าง โค กระบือจากราษฎรในเมืองเชียงใหม่

ถือเป็นการเริ่มต้นการค้าขายระหว่างอังกฤษและล้านนาโดยตรง ไม่ผ่านกรุงเทพฯ

เส้นทางการค้าระหว่างล้านนากับอังกฤษในตอนนั้น คือการล่องตามแม่น้ำปิง จากเชียงใหม่ลงมายังตาก ตัดเข้าแม่สอด เมียวดี ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ไปยังเมืองมะละแหม่ง

พรมแดนระหว่างเมืองมอญของอังกฤษกับล้านนาตามเส้นทางเศรษฐกิจสายนี้ ใช้สันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งอยู่เลยผืนแผ่นดินที่เป็นเมืองเมียวดีปัจจุบันไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร เป็นเส้นแบ่งเขตแดน

การเปิดการค้าระหว่างล้านนากับอังกฤษ ประกอบกับการที่อังกฤษกำลังขยายกิจการป่าไม้ในเขตปกครองของตนเองในพม่า ทำให้มีชาวล้านนาหลายคนมองเห็นเป็นโอกาส มีผู้คนจำนวนหนึ่งอพยพโยกย้ายจากเมืองต่างๆในล้านนา มาตั้งรกรากยังดินแดนที่เป็นเสมือนหน้าด่านระหว่างล้านนากับเมืองมอญของอังกฤษ บนฝั่งตะวันตก ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเมย ไปประมาณ 18.5 กิโลเมตร เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ

เด็กซึ่งฝึกฝนการแสดงมาจากวัดต่างๆ กำลังเตรียมตัวขึ้นเวที

หนานเอ๊ก มัคทายกวัดศรีบุญเรือง ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดงานบุญชาติ และปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม บ้านห้วยส้าน ในปีนี้ เล่าในสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษอีกต่อหนึ่งว่า 200 กว่าปีที่แล้ว ผืนดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านห้วยส้าน มีสภาพเป็นป่ารกชัฏ ผู้คนที่ย้ายเข้ามาได้ช่วยกันแผ้วถาง สร้างเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา สร้างวัดประจำชุมชน จากนั้นก็ได้ลงหลักปักฐาน และอยู่กันอย่างถาวร ไม่ได้กลับไปยังถิ่นฐานเดิมอีก

บ้านห้วยส้านดำรงอยู่ต่อเนื่องมา จนเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ได้มีการแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่ากันใหม่ มีการเปลี่ยนแนวเส้นแบ่งเขตจากเดิมที่ใช้สันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรี มาเป็นแม่น้ำเมย

ทำให้ผืนแผ่นดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านห้วยส้าน ได้ตกไปอยู่ในเขตของพม่า ชาวบ้านห้วยส้าน ซึ่งเป็นคนไทจากล้านนาที่ได้ตั้งรกรากอยู่อย่างถาวรไปแล้ว จึงกลายเป็นคนไทที่ตกหล่นอยู่ในดินแดนที่มิใช่เขตประเทศเดิมของตนไปโดยปริยาย

ปัจจุบันหนานเอ๊กอายุ 60 ปี เป็นชาวบ้านห้วยส้านรุ่นที่ 4 รุ่นแรกที่มาบุกเบิกสร้างบ้านห้วยส้าน เมื่อ 200 กว่าปีก่อน เป็นทวดของเขา

เช่นเดียวกับชาวบ้านห้วยส้านคนอื่นๆ หนานเอ๊กไม่มีนามสกุล จึงมิอาจสืบสาวต่อไปถึงเครือญาติที่ยังคงอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันได้(พระราชบัญญัตินามสกุล เพิ่งประกาศใช้ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2456)

คณะแมงโตเมี๊ยะ จากบ้านผาซอง
จากบ้านห้วยส้านที่เป็นชุมชนแห่งแรก คนไทโยนที่อพยพมาจากล้านนาซึ่งอยู่ในจังหวัดเมียวดี ได้แพร่ขยายจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน มีจำนวนคนไทโยนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้อยู่ประมาณ 2 หมื่นคน กระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ 7 หมู่บ้านด้วยกัน ประกอบด้วย บ้านห้วยส้าน บ้านแม่แปป บ้านปากกาน บ้านห้องห้า บ้านแม่กานใน บ้านผาซอง บ้านไร่ รวมถึงมีคนไทอีกส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเมียวดี ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่าเมือง”บะล้ำบะตี๋”

มีวัดซึ่งเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชุมชนชาวไท 5 วัดด้วยกัน ประกอบด้วย วัดบัวสถาน วัดสว่างอารมย์ วัดสุวรรณคีรี วัดป่าเรไร และวัดศรีบุญเรือง

                                                     หนานเอ๊กบอกเล่าความเป็นมาของบ้านห้วยส้าน

แม้ว่าได้กลายเป็นคนสัญชาติพม่าไปแล้ว แต่คนในบ้านห้วยส้าน รวมถึงคนไทที่กระจายออกไปอยู่ตามหมู่บ้านอื่นๆ ยังสำนึกตนเองโดยตลอดว่าเป็นคนไท ทุกคนพยายามปลูกฝั่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทให้สืบเนื่องมาตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน และรุ่นลูกหลานของเหลนในปัจจุบัน

ชาวไทโยนบ้านห้วยส้าน และอีก 6 หมู่บ้านที่เหลือ ใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ ขณะเดียวกัน ทุกคนก็สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว

แต่ภาษาและสำเนียงการพูดเป็นภาษาเมือง เหมือนคนเมืองที่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย

แต่ละหมู่บ้าน มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน โดยเด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียน ต้องเรียนเป็นภาษาพม่า ตามหลักสูตรการศึกษาของพม่า แต่ในเวลาว่างเว้นจากการเรียนประจำ เด็กๆทุกคนจะได้ฝึกฝนการพูด อ่าน เขียนภาษาไท ตลอดจนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมไท จากในวัด

ตัวอักษร และภาษาเขียนของพวกเขา เป็นตัวอักษรไทยภาคกลาง ที่ใช้กันอยู่ในทั่วประเทศไทยทุกวันนี้

เด็กน้อยชาวไทโยน

อย่างไรก็ตาม เวลาที่ล่วงเลยมากว่า 200 ปี ทำให้คนไทโยนเริ่มมีการผสมผสานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในพื้นที่มากขึ้น

คนเฒ่า คนแก่ในชุมชนชาวไท เริ่มตระหนักแล้วว่า หากปล่อยให้เวลาผ่านไป ความเป็นคนไท อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาติพันธุ์อาจสูญหาย เพราะสภาพสังคมเริ่มเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ตามแนวทางทุนนิยม

การจัดงานบุญชาติ ปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสืบทอดอัตลักษณ์ของความเป็นไท ของชุมชนไทโยนให้คงอยู่สืบต่อไปถึงในวันข้างหน้า

                                                   หนานเอ๊กอธิบายวัตถุประสงค์ของการจัดงานบุญชาติ

                                                            คำกล่าวเปิดงานบุญชาติโดยหนานเอ๊ก

ภายในงาน นอกจากการกล่าวเปิดงานโดยหนานเอ๊ก เพื่อกระตุ้นให้คนที่มาร่วมงานตระหนักถึงความเป็นคนไท ที่ต้องดำรงอยู่ซึ่งอัตลักษณ์ ประเพณี และวัฒนธรรมไทแล้ว ยังมีการฟังศีล ฟังธรรม พระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์สืบชะตาชาติ การแสดงของเด็กนักเรียนจากวัดต่างๆถึงวัฒนธรรมไท ตลอดจนมีการละเล่นตามประเพณีดั้งเดิมของคนไท เช่น การแสดงแมงโตเมี๊ยะ ที่คล้ายกับการเชิดสิงโตของจีน แต่เป็นการเชิดร่วมกับการรำดาบไท

                  การแสดงแมงโตเมี๊ยะของเด็กๆจากบ้านผาซองในงานบุญชาติ

มีการแข่งขันไต่เสาน้ำมัน ซึ่งผู้ร่วมแข่งขันจะต้องไต่เสาไม้ไผ่ที่ชโลมน้ำมันหมูไว้ทั่วลำไม้ เพื่อขึ้นไปชิงกับเงินรางวัลที่ผูกเอาไว้ที่ปลายยอด

การไต่เสาน้ำมันนี้ แบ่งการแข่งขันออกเป็นเสาสำหรับผู้ใหญ่ และเสาสำหรับเด็ก

                                                       การแข่งขันไต่เสาน้ำมัน ของเด็กๆบ้านห้วยส้าน

ช่วงกลางวัน คนที่มาร่วมงานต่างจับกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งเมนูอาหาร ล้วนเป็นอาหารล้านนา ประกอบด้วย ข้าวนึ่ง ถั่วเน่า แกงแค ยำขนุน ปลาทอด ต้มไก่ฯลฯ

มีน้ำขาว เป็นเครื่องดื่มหลัก

ร่วมวงกันกินข้าวกลางวัน

รายการอาหาร ซึ่งเป็นอาหารเมือง

งานจะเริ่มซาตอนบ่ายแก่ๆ ผู้คนเริ่มทยอยกันเดินทางกลับ โดยเฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างหมู่บ้าน

งานบุญชาติ และปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม ของหมู่บ้านห้วยส้านในปีนี้ ถือเป็นปีแรก ที่ทางการจังหวัดเมียวดีโดยรัฐบาลพม่า ได้อนุญาตให้หมู่บ้านห้วยส้านสามารถเชิญคนไทย จากประเทศไทย ให้เดินทางข้ามแม่น้ำเมยเพื่อไปร่วมงานได้อย่างเป็นทางการ

เป็นการเปิดตัวหมู่บ้านของคนไทซึ่งตกค้างอยู่บนผืนแผ่นดินพม่า ให้ปรากฏต่อสาธารณะ

ถือเป็นกุศโลบายอันแยบยลของรัฐบาลพม่า ซึ่งได้เริ่มเปิดประเทศต่อโลกภายนอกเมื่อ 3 ปีก่อน จนเริ่มได้รับการยอมรับประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค และยังดำรงฐานะเป็นประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 10 ประเทศในภูมิภาคนี้ กำลังจะก้าวขึ้นสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปีหน้า

จากกุศโลบายนี้ เชื่อว่าจากนี้ไป ชื่อของบ้านห้วยส้าน ชุมชนชาวไทโยน ในจังหวัดเมียวดี จะต้องเป็นที่รู้จักของคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น