วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตัวตน คนลื้อ(2)...ที่เชียงรุ่ง


“อย่าเดินเลย...สูง เดี๋ยวเรานั่งรถแบตเตอรี่ขึ้นไปดีกว่า”

อาเหวินนรีบบอกกับพวกเรา ขณะกำลังจะก้าวขาเดินขึ้นบันไดสูงนับ 100 ขั้น เพื่อไปกราบองค์พระประธานที่อยู่เกือบถึงยอดเนินเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดหลวงเมืองลื้อ แห่งเมืองเชียงรุ่ง

“รถแบตเตอรี่?” ผมทวนคำพร้อมกับสีหน้าสงสัย

อาเหวินไม่ตอบ แต่ชี้มือไปด้านหลัง ”นั่นไง มาแล้ว”

รถที่มาจอดเทียบข้างๆเรา คือรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือที่บ้านเรามักเรียกกันติดปากว่ารถกอล์ฟ!!!

รถแบตเตอรี่พาเราวนตามถนนรอบเนินเขา ขึ้นไปจนถึงลานซึ่งเป็นที่ตั้งของพระประธาน วิหาร และโบสถ์ของวัด

เมืองเชียงรุ่ง เมื่อมองจากวัดหลวงเมืองลื้อ

คำว่า“รถแบตเตอรี่”ของอาเหวิน วนเวียนอยู่ในหัวของผมตลอดการเที่ยวชมวัดหลวงเมืองลื้อในวันนั้น

“ก็เป็นคำที่น่ารักดี” ผมคิดในใจ...

ผมไม่รู้จักกับอาเหวินโดยตรง เธอเป็นเพื่อนของรุ่นน้องของผมคนหนึ่ง ที่ร่วมนั่งรถจากเชียงใหม่ขึ้นไปยังเมืองเชียงรุ่งด้วยกันเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน

อาเหวินอาศัยอยู่ในเชียงรุ่ง เธอจึงรับอาสาเป็นไกด์ชั่วคราวเพื่อพาชมสถานที่ต่างๆในตัวเมือง

อาเหวินอายุประมาณ 35 ปี เป็นคนลื้อ เกิดและโตในเมืองเชียงรุ่ง แต่เธอเติบโตมาในยุคที่เชียงรุ่งกำลังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาวฮั่นที่ได้อพยพ ย้ายถิ่นฐานจากดินแดนทางตอนเหนือเข้ามาอยู่ในเชียงรุ่งเป็นจำนวนมาก

หากดูจากภาพภายนอก แทบไม่มีสิ่งใดที่บ่งบอกถึงความเป็นคนลื้อของอาเหวิน เธอแต่งตัวเหมือนชาวจีนที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศจีน ใช้ภาษาแมนดารินในการสนทนาสื่อสารกับคนอื่นๆ เพียงแต่เมื่อเธอคุยกับพวกเรา เธอจะใช้ภาษาไทย

อาเหวินพูดไทยได้ชัด และคล่องแคล่วมาก

รุ่นน้องของผมบอกว่า ที่เขารู้จักกับอาเหวิน เพราะว่าเธอเคยเข้ามาทำงานในเมืองไทยอยู่ระยะหนึ่ง

เรื่องของอาเหวินและความเป็นคนลื้อของเธอ จุดประกายให้ผมสนใจในเรื่องราว และความเป็นไปของคนลื้อที่อยู่ในเมืองเชียงรุ่ง


แม่น้ำโขงหรือที่คนเชียงรุ่งเรียกว่าลั่นซั่งเจียง ซึ่งไหลผ่านกลางเมืองเชียงรุ่ง

เชียงรุ่ง เป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา อยู่ห่างจากชายแดนไทยจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายขึ้นไปประมาณ 500 กิโลเมตร

สิบสองปันนาในอดีตเป็นเมืองของคนลื้อ ประชากรส่วนใหญ่ของสิบสองปันนาคือคนลื้อ

สมัยที่ยังไม่มีการตีเส้นแบ่งเขตเป็นประเทศเหมือนในปัจจุบัน สถานภาพของสิบสองปันนาขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของรัฐขนาดใหญ่กว่าที่อยู่รายรอบ ทั้งจีน พม่า สยาม

โดยธรรมเนียมในอดีต เมื่อรัฐใดที่มีอิทธิพลต่อสิบสองปันนามากที่สุด ก็มักกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนาเข้าไปอยู่ในรัฐของตน เพื่อให้เป็นกำลังทหาร หรือเป็นแรงงานในการปลูกข้าว

ดังนั้น ชุมชนของชาวลื้อที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป ทั้งในประเทศไทย ลาว ตลอดจนรัฐฉานของพม่าในปัจจุบัน ล้วนมีถิ่นฐานดั้งเดิมมาจากสิบสองปันนาทั้งสิ้น

แต่ในที่สุด เมื่อร้อยกว่าปีก่อน สิบสองปันนาก็ต้องตกเป็นรัฐที่ขึ้นอยู่กับจีน

ช่วงที่จีนกำลังมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ เหมาเจ๋อตุงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ได้ให้ขอพลังสนับสนุนจากบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆที่อยู่ในประเทศจีน โดยสัญญาว่า หากพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้ จะให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองกับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้

หลังจีนเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง สิบสองปันนาจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา โดยผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าเขตปกครองพิเศษนี้ ต้องเป็นคนในท้องที่ ซึ่งขณะนั้นยังคงมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวลื้อ

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เป็นเขตปกครองตนเอง แต่ในช่วงที่จีนได้มีการปฏิวัติวัฒนธรรม ความเป็นตัวตนของคนลื้อที่นี่ ได้ถูกกดทับเอาไว้ จากนโยบายของรัฐบาลกลางที่ต้องการสลายความเป็นตัวตนของประชากรทุกคนภายในประเทศ เพื่อให้รับกับระบอบคอมมิวนิสต์

เครื่องบ่งชี้ ที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของคนลื้อจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม หลายสิ่ง และสถานที่หลายแห่งถูกทำลาย ภาวะการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องกันนานนับ 10 ปี

จนเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงมีนโยบายเปิดประเทศ โดยเริ่มนำระบบทุนนิยมเข้ามาประยุกต์ใช้ผสมผสานกับรูปแบบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ สิบสองปันนาได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์พื้นที่หนึ่งตามนโยบายนี้

นโยบายที่รัฐบาลกลางมีต่อสิบสองปันนาจึงถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง


การก่อสร้างที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเชียงรุ่ง

สิบสองปันนาได้ถูกกำหนดให้เป็นประตูเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆที่อยู่ด้านล่าง ทั้งพม่า ลาว และไทย เพื่อหวังผลในการขยายเส้นทางคมนาคม เปิดทางออกสู่ทะเลให้กับทั้งผู้คนและบรรดาสินค้าประเภทต่างๆของจีน

จีนได้ผลักดันให้มีการสร้างเส้นทาง 2 สาย คือ สาย R3a จากเมืองบ่อหานของสิบสองปันนา ผ่านเข้าเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาของลาว มาถึงชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร

อีกเส้นทางหนึ่ง คือสาย R3b จากเมืองต้าลั่ว เขาสู่เมืองลา ของพม่า ผ่านเมืองเชียงตุง มาถึงเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร

มีการสนับสนุนให้ประชากรจีนที่เป็นชาวฮั่นจำนวนมาก อพยพโยกย้ายเข้ามาลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองเชียงรุ่ง โดยชาวฮั่นเหล่านี้ ได้มากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆในเมืองเชียงรุ่งจากคนลื้อ ในขณะที่คนลื้อส่วนใหญ่ก็ถูกเบียดให้ต้องออกไปหาที่อยู่อาศัยใหม่บริเวณรอบนอกของตัวเมือง

ส่วนคนลื้อที่ยังคงอยู่ ก็ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชาวฮั่น ที่ค่อยๆแผ่ขยายเข้ามาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยนโยบายนี้ ทำให้ในปัจจุบัน เมื่อใครได้เดินทางเข้าไปในเมืองเชียงรุ่ง โอกาสที่จะได้พบกับคนที่พูดภาษาลื้อได้มีน้อยลง ธุรกิจ กิจการ ตลอดจนร้านค้า ร้านรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายสินค้า ขายอาหาร ที่อยู่ในเมืองเชียงรุ่งส่วนใหญ่ ล้วนตกอยู่ในการครอบครองของชาวฮั่น

รูปแบบการดำรงชีวิตในเชียงรุ่งทุกวันนี้ จึงไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆของจีนโดยทั่วไป

เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นประจักษ์พยานได้อย่างดีที่ผมและคณะได้ประสพกับสายตาตนเองจากการเดินทางไปเชียงรุ่งเที่ยวนี้

คือขณะที่ผมและเพื่อนๆกำลังเดินชมเมืองอยู่ริมถนนสายหนึ่ง มีรถตำรวจคันหนึ่งเปิดเสียงและสัญญานไซเร็นกำลังวิ่งมาบนถนนที่รถค่อนข้างคับคั่ง เมื่อถึงสี่แยก รถตำรวจดังกล่าวกำลังจะเลี้ยวซ้าย แต่รถที่มาทางตรงในเลนที่สวนกับรถตำรวจคันนี้ แทนที่จะหยุดหรือชลอรถเพื่อให้ทางกับรถตำรวจคันนี้ได้เลี้ยวก่อน กลับบีบแตรและเร่งความเร็วเพื่อให้ได้แล่นผ่านสี่แยกก่อน จนรถตำรวจต้องเบรดเสียงเอี๊ยดดังลั่น!!!

ครั้งหนึ่ง ผมเคยมีโอกาสได้ไปอยู่ร่วมในพิธีต้อนรับนางเตา หลินอิน ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา เมื่อครั้งที่เดินทางโดยรถยนต์จากเมืองเชียงรุ่ง ผ่านลาว และนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงมาเข้าเขตแดนประเทศไทย ที่อำเภอเชียงของ เมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2552

ทั้งๆที่เชียงของ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีชาวลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พิธีต้อนรับผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา กลับจัดโดยมีกลิ่นอายของความเป็นจีนมากกว่าความเป็นลื้อ...



อย่างไรก็ตาม แรงปะทะทางวัฒนธรรมจากชาวฮั่น ซึ่งระยะหลัง ดูเหมือนได้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเชียงรุ่งไปแล้ว ได้ก่อให้เกิดความต้องการที่จะแสดงตัวตนของคนชาวลื้อออกมา ประหนึ่งเป็นการตอบโต้ เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าเมืองแห่งนี้ เคยเป็นเมืองของคนลื้อ

ซึ่งจะบังเอิญหรือจงใจหรือไม่ก็ตาม ความต้องการการแสดงตัวตนดังกล่าว ประจวบเหมาะกับนโยบายของรัฐบาลกลางของจีน ที่เริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเป็นแหล่งรายได้หลักจำนวนมากให้กับประเทศ

ด้วยความที่จีนเป็นประเทศใหญ่ รัฐบาลกลางจึงมีนโยบายสนับสนุนให้คนจีนส่วนหนึ่ง เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศ ด้วยการชูเอกลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามเมืองต่างๆ ให้ขึ้นมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนจีนที่อยู่ในที่อื่นๆได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยว

ตัวตนของคนลื้อในเชียงรุ่ง จึงได้ถูก“ประดิษฐ” และ“สร้าง”ให้กลับคืนมาใหม่ เพื่อให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนจากพื้นที่อื่นๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ให้เดินทางเข้ามาเที่ยว

มีการสนับสนุนให้คนลื้อแสดงตัวตนของตนเองออกมาผ่านการแต่งกาย แต่เป็นเครื่องแต่งกายที่ประยุกต์ให้เข้ากับสมัยใหม่มากขึ้น มิได้เป็นเครื่องแต่งกายแบบลื้อในอดีต แต่ก็พอจะทำให้เห็นถึงความแต่งต่างระหว่างคนลื้อ กับคนอื่นๆทั่วไปได้ค่อนข้างชัด


คนลื้อที่เชียงรุ่ง ในชุดแบบดั้งเดิม
ชุดลื้อที่ประยุกต์

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เข้ามาลงทุนสร้างเขตเศรษฐกิจ และเขตที่อยู่อาศัยจำนวนมากในเมืองเชียงรุ่ง โดยเน้นย้ำในการชูเอกลักษณ์ของความเป็น“ลื้อ” ให้เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของอาคาร

รวมถึงชื่ออาคาร ชื่อของกิจการหรือบริษัทต่างๆ ชื่อถนน ตลอดจนป้ายบ่งบอกทิศทางที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆในเมืองเชียงรุ่ง ก็ถูกำหนดให้มีตัวอักษรภาษาลื้อกำกับไว้ด้วย นอกเหนือจากตัวอักษรจีน

ชื่ออาคารในเชียงรุ่งซึ่งประกอบไปด้วยภาษาลื้อ ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ

มีการจัดแสดงโชว์พาราณสี ซึ่งถือเป็นการแสดงหลักของเมือง จัดให้มีชุมชนลื้อดั้งเดิมที่เรียกกันว่ากาลันปา ตลอดจนป่านกยูง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำเมืองเชียงรุ่ง เพื่อไว้รองรับนักท่องเที่ยว

สิ่งต่างๆที่นำมาแสดง ล้วนเป็นเรื่องราวในอดีตของสิบสองปันนาและเชียงรุ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์กับพระพุทธศาสนา

วัดหลวงเมืองลื้อที่ผมได้ไปเยี่ยมชม ซึ่งถูกสร้างให้เป็นวัดประจำเมืองเชียงรุ่ง ตั้งอยู่บนเนินเขา ที่สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดจากในตัวเมือง ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่อยู่ในกระบวนการนี้...




การแสดงวัฒนธรรมชาวลื้อ ในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าข้ามแดนที่เชียงรุ่งเมื่อปี 2554

“รถแบตเตอรี่” ผมทวนคำพูดของอาเหวิน

นโยบายนี้ เป็นเหมือนแบตเตอรี่ที่มาให้พลังงานกับคนลื้อได้มีโอกาศฟื้นความเป็นตัวตนของตนเองให้กลับคืนมาใหม่

แต่ตัวตนของคนลื้อในเชียงรุ่งและสิบสองปันนา จะดำเนินต่อไปในทิศทางเช่นไร จะเป็นเพียงการแสดงตัวตนออกมาในเชิงกายภาพ ภายใต้บริบททางสังคมที่ความเป็นทุนนิยมได้ก้าวหน้าและมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆหรือไม่นั้น

คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกาลเวลา...



1 ความคิดเห็น: