“ออกพรรษาแล้ว ช่วงนี้ต้องช่วยกัน หมั่นไปดูแลต้นฝ้ายที่วัดให้ดี
เพราะใกล้ถึงงานจุลกฐินแล้ว”
พรนึกถึงคำพูดของพ่อ ที่มักพร่ำบอกกับลูกๆทุกคน ในทุกๆปี เมื่อถึงช่วงเทศกาลออกพรรษา
ครอบครัวของพรอาศัยอยู่ในชุมชนชาวลื้อ ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
สิ่งที่เขาเห็นเป็นประจำมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อผ่านพ้นวันออกพรรษา ความคึกคักจะเริ่มคืบคลานเข้ามาสู่ชุมชนของเขา
ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน
จะเกณฑ์คนให้ไปบำรุงรักษาต้นฝ้ายที่ปลูกไว้ เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญ ของการเริ่มต้นประเพณีจุลกฐิน
บ้านของพรอยู่ใกล้วัด
พ่อจึงอาสาเป็นหลักในการดูแลแปลงต้นฝ้าย
พรมักเป็นลูกมือของพ่อในภารกิจนี้ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้
เมื่อพ่ออายุมากขึ้นแล้ว เขาจึงอาสารับภารกิจนี้แทน...
เป็นกฐินประเภทหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนชุมชน
ที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันเร่ง“ผลิต”ผ้ากฐินให้เสร็จภายในคืนเดียว
เพื่อให้ทันถวายพระตอนรุ่งเช้า
คำว่า“ผลิต”ในที่นี้ หมายรวมหมดทั้งกระบวนการ
ตั้งแต่การเก็บปุยฝ้ายจากต้นฝ้ายที่ได้ปลูกเตรียมไว้ นำปุยฝ้ายที่เก็บได้
ไปหีบเพื่อเอาเมล็ดออก ตีปุยฝ้ายให้ฟูและดึงเป็นเส้นเพื่อปั่นให้เป็นด้าย นำด้ายไปกรอใส่หลอด
และนำเส้นฝ้ายจากหลอดไปทอเป็นผ้า
เมื่อทอจนได้เป็นผ้าผืนออกมาแล้ว นำมาย้อมสีและตัดเย็บให้เข้ารูปเป็นผ้ากฐิน
เสร็จแล้วจึงพับใส่พาน เตรียมไว้ให้พร้อมสำหรับพิธีถวายผ้ากฐินในตอนเช้า
หีบฝ้าย |
สำหรับชาวลื้อแล้ว
จุลกฐินถือเป็นประเพณีที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะวัฒนธรรมของลื้อนั้น มี 2 สิ่งที่โดดเด่น แสดงถึงตัวตนของความเป็นคนลื้อ
นั่นคือการนับถือพุทธศาสนา และการทอผ้า…
ปั่นฝ้าย |
เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง“พระพุทธศาสนาในเมืองสิบสองพันนา”
เขียนโดยพระนคร ปรังฤทธิ์ ซึ่งได้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ”วิถีไทลื้อ
เมืองสิบสองพันนา” จัดพิมพ์โดยโครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาประเทศเพื่อนบ้าน
สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่
ในหนังสือเล่มเดียวกัน ยังมีบทความเรื่อง“เยี่ยมถิ่นไทลื้อ
ที่สิบสองพันนา” เขียนโดยอาจารย์ยุพิน เข็มมุกด์ ข้าราชการบำนาญ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งบอกว่า...
“...แม่ญิงไทลื้อได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้าเป็นเลิศ
เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า
แม้จะมีเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาหลายครั้ง แม่ญิงไทลื้อไปอยู่ที่ไหน
ก็จะไม่ละทิ้งเรื่องการทอผ้า เมื่อเข้าไปในวิหารวัดไทลื้อ สิ่งหนึ่งที่น่ามหัศจรรย์มาก
คือลวดลายที่วิจิตรงดงาม บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาลงบนผืนผ้า
ที่เรียกว่า”ตุง” รวมถึงสิ่งทอที่ถวายเป็นพุทธบูชา
แม่ญิงไทลื้อมีความสามารถในการนำเอาภูมิปัญญากับวัฒนธรรมการทอผ้า
เรื่องราวทางพุทธศาสนา วรรณกรรม จารีต ประเพณี มาไว้บนผื้นผ้าได้อย่างลงตัวสวยงาม
นี่คือผลงานที่บรรพชนไทลื้อได้สร้างสรรค์ขึ้นจนกลายเป็น อัตลักษณ์ที่โดดเด่น...”
ร่วมมือร่วมแรงกันผูกปมฝ้าย |
เริ่มทอผ้า |
แรกๆเลย
งานจุลกฐินทำกันเงียบๆภายในชุมชน ไม่เป็นงานใหญ่โตเอิกเกริก ชาวลื้อในชุมชนทุกคน
ต่างรับรู้กันว่าเมื่อผ่านพ้นวันออกพรรษาไปแล้ว แต่ละคนจะมีบทบาท หรือหน้าที่อะไรบ้าง
ทุกคนจะเตรียมตัวทำหน้าที่ของตนให้พร้อมก่อนจะถึงวันซึ่งกำหนดให้เป็นวันจุลกฐิน
เมื่อถึงคืนก่อนวันถวายผ้ากฐิน
แต่ละบ้านก็จะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดปกติที่สวมใส่ประจำวัน
มาสวมใส่ชุดของชาวลื้อ และมาชุมนุมร่วมมือร่วมแรงกันทอผ้าย้อมผ้าอยู่ภายในวัด
เพื่อเตรียมผ้ากฐินให้พร้อมในเช้าวันรุ่งขึ้น
สำหรับเด็กๆอย่างพร
ภาพความทรงจำของเขาคือความสนุกสนาน
ยามเมื่อได้ติดตามพ่อแม่ที่ไปช่วยงานที่วัดในคืนก่อนวันทอดกฐิน
เพราะเขามีโอกาสได้วิ่งเล่นซุกซนกับเพื่อนๆในยามค่ำคืน เพราะหากเป็นวันปกติ
เมื่อถึงเวลาพลบค่ำ เขาก็ต้องเตรียมตัวเข้านอนแล้ว
วิธีผ่อนคลาย ในค่ำคืนก่อนวันถวายผ้ากฐิน |
ในขั้นตอนท้ายๆ ของการเตรียมผ้านกฐิน(ภาพนี้ บันทึกในเวลา 05.00 น. ของวันที 24 พฤศจิกายน 2555) |
ต่อมาเมื่อมีคนจากท้องถิ่นอื่นรู้ข่าวเกี่ยวกับประเพณีจุลกฐิน
เริ่มมีคนจากภายนอกเดินทางมาร่วมชมงานมากขึ้น บางคนเป็นนักท่องเที่ยว
ที่มาเที่ยวดูประเพณีนี้โดยเฉพาะ
จากขั้นตอนภายในงาน
ที่มีเพียงกระบวนการตระเตรียมฝ้าย ทอผ้า จึงเริ่มมีกิจกรรมอย่างอื่นเสริมเข้ามามากขึ้น
มีการออกร้าน
แสดงศิลปวัฒนธรรมลื้อ เพื่อให้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับคนลื้อแก่คนที่มาเที่ยว
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชาวลื้อได้ถูกออกแบบตัดเย็บให้พิถีพิถันมากขึ้น
โดยเฉพาะชุดของเด็กๆ
สมัยก่อนที่งานจุลกฐินยังไม่เป็นงานใหญ่แบบทุกวันนี้
เด็กๆในชุมชนไม่ได้ถูกเข้มงวดให้ต้องสวมใส่ชุดชาวลื้อกันทุกคน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว
เด็กๆมักจะซน เวลาตามพ่อแม่ไปที่วัด ก็มักจับกลุ่มเล่นหัวกันจนเนื้อตัวสกปรกมอมแมม
แต่พองานจุลกฐินได้กลายเป็นงานใหญ่ประจำชุมชน
มีคนหลั่งไหลมาเที่ยวชมงาน ทั้งจากในตัวจังหวัดเอง และจากจังหวัดอื่นๆ
เด็กๆทุกคนเลยถูกจับแต่งตัวแบบชาวลื้อ ซึ่งดูไม่สะดวกนักที่จะวิ่งเล่นหัว ซุกซนกันตามประสาเด็กๆแบบสมัยก่อน
เมื่องานจุลกฐินของชาวลื้อในเชียงของเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
ก็มีบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือองค์กรต่างๆ ทั้งจากส่วนกลาง และภายในจังหวัด
แสดงเจตจำนงขอร่วมเป็นเจ้าภาพ
ผ้ากฐิน เมื่อผ่านพ้นกระบวนการทอ ตัดเย็บ และย้อม |
เตรียมพร้อมสำหรับพิธีถวายผ้าในตอนเช้า |
จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสเหล่านั้น หลายสิบปีก่อน ความเป็นคนลื้อในประเทศไทย
เคยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้ โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการสร้างรัฐชาติ
มีนโยบายชาตินิยม ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงการต่อสู้ทางอุดมการณ์กับลัทธิคอมมิวนิสต์
เนื่องจากคนลื้อที่อยู่ในประเทศไทยเคยมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่สิบสองปันนา
ที่ตกเป็นของจีน ทำให้คนในภาครัฐของไทย มักมองคนลื้อด้วยทัศนคติที่คับแคบอย่างหวาดระแวง
เพราะเป็นช่วงที่จีนเพิ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์
เจ้าหน้าที่รัฐเกรงว่าชาวลื้อในไทยอาจมีการติดต่อกับเครือญาติที่อยู่ในจีน
และรับเอาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มาด้วย
ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่ พรก็ไม่ทราบได้
แต่ที่เขาได้รับคำบอกเล่ามานั้น ชาวลื้อได้เข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลาเกือบ 200 ปี
ก่อนที่กระแสความคิดเช่นนี้จะเกิดขึ้นเสียอีก
โอกาสที่คนลื้อในไทย ยุคเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน จะได้ติดต่อกับญาติๆในสิบสองปันนา ก็มีไม่มากนัก หรือหากมีก็น้อยมาก
เพราะช่วงห่างของรุ่นทำให้ลืมกันไป หรือแทบจะจำกันไม่ได้ไปแล้ว
ที่สำคัญ แม้จะเป็นคนลื้อ แต่เมื่อได้มาอยู่ในประเทศไทยแล้ว
คนลื้อทุกคนต่างยอมรับว่าตนเอง ก็คือคนไทย
เมื่อพรนึกถึงเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ แม้เขาเกิดมาไม่ทันในช่วงที่คนลื้อต้องหลบซ่อนตัวตนอยู่ในสังคมไทย
แต่เขาก็พอเข้าใจความรู้สึกของผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้น
มาถึงปัจจุบัน เมื่อบริบทต่างๆเหล่านี้ได้สูญสลายไป
ความเป็นคนลื้อกลับถูกปลุกขึ้นมาใหม่ ไม่เฉพาะในชุมชนเล็กๆที่พรเกิดและอาศัยอยู่
แต่เป็นเหมือนกันในทุกๆที่
จากแนวโน้มของคนไทยส่วนหนึ่งที่โหยหาอดีต เริ่มหวนกลับไปค้นหา
ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับรากเหง้าของตนเอง ความเป็นคนลื้อ ซึ่งก็คือคนไทเชื้อสายหนึ่ง
จึงได้รับสนใจขึ้นมา
หลายปีที่ผ่านมา
คนลื้อหลายคนกล้าที่จะแสดงตัวตนออกมาให้คนภายนอกได้เห็น อย่างพากพูมใจในความเป็นลื้อ
ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลส่วนกลาง
ทางหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีแนวคิดในการชูเอกลักษณ์ของท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
ความเป็นคนลื้อ ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีของคนลื้อ จึงได้รับการสนับสนุน
เพราะรายได้จากการท่องเที่ยว สามารถนำเงินเข้ามายังอำเภอ และจังหวัดได้เป็นจำนวนมาก
งานจุลกฐินของชาวลื้อได้ถูกบรรจุไว้เป็น 1 ในปฏิทินท่องเที่ยวของท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
.....
พรนั่งมองดูลูกชายวัย 4 ขวบเศษ ที่กำลังลองชุดลื้อชุดใหม่ที่เพิ่งตัดเย็บเสร็จ
ตั้งแต่ลูกคนนี้เกิดมา เขายังไม่เคยพาลูกไปซึมซับรับรู้ถึงบรรยากาศของงานจุลกฐินเลย
เพราะเห็นว่ายังเล็กอยู่
แต่ปีนี้
เขาคิดว่าได้เวลาที่ลูกจะต้องเริ่มเรียนรู้วิถีแห่งตัวตนของตนเองได้แล้ว
พรเดินมาตบหัวลูกชายเบาๆ ก่อนจะพูดกับลูกว่า
“ออกพรรษาแล้ว เย็นวันพรุ่งนี้ไปช่วยพ่อดูแลต้นฝ้ายที่วัดหน่อยนะ
เพราะใกล้ถึงงานจุลกฐินแล้ว”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น