วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

“อูด้ง”ลาว



.....“พี่ชอบกินบะหมี่หรือเปล่า”เพื่อนชาวลาวผู้หนึ่งถามผมกลางวงสนทนาในมื้อเย็นวันหนึ่ง

.....“ชอบสิ ทำไมเหรอ”ผมถามตอบ

.....“แล้วชอบบะหมี่ในลาวมั้ย”เขาถามตอบกลับมา

.....“ชอบ น้ำซุปก็อร่อย แล้วเส้นก็แปลก ไม่เหมือนเส้นบะหมี่ในไทย”

.....“ยังไงล่ะ”

.....“ก็บะหมี่ในลาว เส้นจะกลมใหญ่ คล้ายเส้นหมี่ซั่วหรือหมี่เตี๊ยว เส้นไม่เป็นเหลี่ยมเล็ก หรือแบนๆเหมือนในไทย”ผมอธิบาย

.....“แต่ร้านที่ขายบะหมี่แบบนั้น ในลาวก็มีหลายที่นะ”

.....“ใช่ ผมเคยไปกินมาแล้ว แต่ถ้าเข้ามาในลาวแล้ว ผมเลือกกินบะหมี่แบบลาวดีกว่า”ผมรีบสรุป

เฝอ อาหารที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในลาว

เรื่องของกินในลาว เป็นเรื่องที่มีแง่มุมให้พูดถึงได้หลากหลายครับ

เพราะแม้ว่าในลาวจะมีอาหารหลากหลายประเภท แต่คนที่เข้าไปในลาวส่วนใหญ่มักนิยมกิน”เฝอ” ซึ่งก็คือก๋วยเตี๋ยวดีๆนี่เอง

จนบางคนเข้าใจไปว่าคนลาวชอบกินแต่เฝออย่างเดียว

ร้านขายเฝอ บะหมี่เกี๊ยว และอาหารอื่นๆ ซึ่งขายในรอบดึกของเวียงจันทน์

ขณะที่บะหมี่ก็เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่หากินได้ง่าย มีหลายประเภท ทั้งหมี่เกี๊ยว หมี่เป็ด หมี่หมูแดง หมี่แห้งหรือหมี่น้ำ

แต่อย่างที่ผมได้คุยกับเพื่อนข้างต้น เส้นบะหมี่ในลาวจะมีความแตกต่างกับของไทย แต่ก็เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่รสชาติอร่อย ใช้ได้ทีเดียว

เส้นบะหมี่ในลาว เป็นเส้นกลม ใหญ่ ส่วนแป้งเกี๋ยวก็จะหนากว่า

แล้วความที่ลาวเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นในลาว โดยเฉพาะในนครหลวงเวียงจันทน์จึงมีร้านอาหารของชนชาติต่างๆ กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก

ทั้งอาหารฝรั่ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น แม้แต่ร้านข้าวแกง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง-หมูกรอบแบบไทยๆ ก็มีให้เลือก

ว่าถึงเรื่องร้านอาหารญี่ปุ่น เพื่อนคนเดิมของผมยังไม่ยอมหยุดซักเรื่องของบะหมี่

.....“ระหว่างราเมง กับอูด้ง พี่ชอบอะไรมากกว่ากัน”

.....“อันนี้ผมเฉยๆ ถ้ามีก็กินได้ แต่ถ้าให้เลือก ผมชอบอาหารแบบไทยๆ หรือแซ่บๆแบบลาวๆดีกว่า”ผมพยายามสรุปอีกครั้ง

.....“แต่ผมมีเรื่องขำๆเกี่ยวกับราเมงกับอูด้งมาเล่าให้ฟัง”เขายังไม่ยอมเปลี่ยนเรื่อง

.....“เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆด้วยนะ”เขาย้ำ

ด้วยความที่เพื่อนคนนี้ทำธุรกิจอยู่ในลาว ธุรกิจของเขามีคู่ค้าที่เป็นบริษัทจากญี่ปุ่นหลายบริษัท และตัวของเขาเองก็เดินทางไปญี่ปุ่นบ่อยครั้ง

และก็มีหลายครั้ง ที่เขาต้องคอยรับรองตัวแทนของบริษัทคู่ค้าที่ต้องเดินทางมาดูงาน หรือเจรจาธุรกิจกันในลาว

.....“อาทิตย์ก่อน ตัวแทนพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นของผม 3 คนมาเวียงจันทน์ ผมต้องไปคอยรับรอง แล้ว 3 คนนี้ก็เพิ่งมาลาวเป็นครั้งแรก ลงจากเครื่องบินมา ก็จะพาเขาไปกินข้าวเที่ยง ผมถามว่าอยากกินอะไร เขาก็บอกว่าจะกินราเมง ก็พาไป”เขาเริ่มเล่า

.....“คุยธุระกันเสร็จจะพาไปกินข้าวเย็น ก็ถามอีกจะกินอะไร เขาบอกจะกินราเมงอีก ก็พาไปอีกร้านหนึ่ง”

.....“รุ่งเช้าเขากินอาหารเช้าที่โรงแรม ผมไปรับเขาเพื่อพาไปที่โรงงานจนถึงเที่ยง จะพาไปกินข้าว ถามเขาว่าจะกินอะไร เขาก็ยังบอกว่าจะกินราเมงอีก ผมเลยพากลับไปกินร้านแรก”

.....“สรุป ตั้งแต่กลุ่มนี้มา ผมกินราเมงติดๆกันไปแล้ว 3 มื้อ เพราะเขากินอะไร ผมก็ต้องกินด้วย แล้วแกก็ไม่ยอมเปลี่ยนด้วย”

.....“ตกเย็นหลังจากดูงานเสร็จ ผมคิดในใจว่าถ้าเขายังจะกินราเมงอีก แล้วผมจะทำยังไง ก็เลยถามเขาว่าเย็นนี้จะกินอะไร แล้วก็จริงๆด้วย เขาตอบว่าราเมง”

.....”ผมเลยบอกว่าทำไมไม่ลองอูด้งบ้างล่ะ ในลาวก็มีร้านอูด้งอร่อยนะ เขาสนใจ ตอบตกลง”

.....“ผมก็พาไปเลย ไปกินอูด้งลาว โอ้โห..ปรากฏว่าชอบกันใหญ่ ยกนิ้ว บอกอูด้งลาวอร่อย สั่งกินกันคนละ 2 ถ้วย”

.........

เดาได้ไหมครับว่าเพื่อนของผมคนนี้พาคู้ค้าจากญี่ปุ่นไปกินอูด้งที่ไหน ?

.....“ก็แม่นข้าวเปียกบ้านเฮาล่ะเด้อ”

“อูด้ง”ลาวในความเข้าใจของตัวแทนคู่ค้าของเพื่อนของผม ก็คือข้าวเปียกนั่นเองครับ !!!

ข้าวเปียก หรือต้มเส้น หรือในชื่อเรียกที่เราคุ้นเคยกัน ก็คือ”ก๋วยจั๊บญวน”

ข้าวเปียกเป็นอาหารที่คนลาวนิยมกินกันมากอีกอย่างหนึ่งนอกจากเฝอ

ข้าวเปียกในเวียงจันทน์

ทั่วประเทศลาว ทุกบ้าน ทุกเมือง ของทุกแขวง จะมีร้านขายข้าวเปียก แต่ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยขึ้นป้ายไว้ที่หน้าร้าน ซึ่งไม่เหมือนกับร้านขายเฝอ หากใครอยากกินข้าวเปียก ต้องถาม หรือดูจากรายการอาหารของร้านเอาเอง

ขณะเดียวกัน ในร้านที่ขายเฝอเอง ส่วนใหญ่จะมีเมนูข้าวเปียกอยู่ด้วยเสมอ แต่อาจจะไม่ทุกร้าน

รายการอาหาร จะเห็นข้าวเปียกอยู่ในรายการที่ 7

ข้าวเปียกสามารถกินได้ทั้งมื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น หรือแม้แต่มื้อดึก

แต่ด้วยวิถีของคนลาวที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ ร้านที่ขายข้าวเปียกตอนกลางคืนจะมีเฉพาะแต่ในเมืองใหญ่ๆที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปมาก เช่น เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ปากเซฯลฯ

ส่วนแขวงอื่นๆที่คนส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตแบบสมถะ นิยมกินข้าวเย็นรวมกันในบ้าน ร้านข้าวเปียกจึงมักขายกันตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายแก่ๆก็เริ่มปิดร้านกันแล้ว

ราคาข้าวเปียกจะถูกว่าราคาเฝอ เช่นถ้าราคาเฝออยู่ที่ถ้วยละ 15,000 กีบ ราคาข้าวเปียกจะตกประมาณถ้วยละ 8,000 กีบ

เส้นดิบของข้าวเปียก
เส้นดิบของเฝอ

เส้นข้าวเปียกทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียวอีกนิดหน่อย ดังนั้นเส้นจึงมีความเหนียวแน่น กลม และใหญ่ ต่างจากเส้นเฝอ

ความรู้สึกเมื่อเคี้ยวเส้นข้าวเปียกจะคล้ายๆกับการเคี้ยวเส้นอูด้งของญี่ปุ่น เพราะฉนั้นจึงมีสูตรการทำข้าวเปียกบางสูตรในไทย ที่แนะนำว่าหากหาซื้อเส้นข้าวเปียกดิบไม่ได้ ให้ใช้เส้นอูด้งแทน

ข้าวเปียกมักกินกับหมู ทั้งหมูสับ หมูชิ้น ซี่โครงหมู หรือแม้แต่ลูกชิ้นหมู แต่เราก็สามารถสั่งเป็นข้าวเปียกไก่ หรือเนื้อก็ได้

จุดเด่นอย่างหนึ่งของข้าวเปียกก็คือน้ำซุป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำต้มกระดูกหมู ด้วยกระบวนการทำข้าวเปียกที่ต้องต้มน้ำซุปให้เดือดอีกครั้ง ระหว่างปรุงรสและลวกเส้น ดังนั้นข้าวเปียกแต่ละถ้วย น้ำซุปจะร้อนและมีรสชาติที่เข้มข้น

ข้าวเปียกที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมชอบรสชาติน้ำซุปข้าวเปียกของแขวงทางใต้ของลาว ตั้งแต่คำม่วนลงมามากกว่ารสชาติของร้านข้าวเปียกที่อยู่ในเวียงจันทน์หรือแขวงทางเหนือขึ้นไป

ผมรู้สึกว่าซุปข้าวเปียกของแขวงทางใต้มีความเข้มข้นจัดจ้านมากกว่า จนบางครั้งไม่ต้องปรุงเลย ขณะที่ซุปข้าวเปียกของร้านที่ขายในเวียงจันทน์หรือเมืองทางเหนือขึ้นไป ค่อนข้างจืด ต้องอาศัยเครื่องปรุงช่วย

อีกอย่างหนึ่งที่คอข้าวเปียกหรือก๋วยจั๊บญวนรู้กันดีก็คือหอมเจียว ร้านข้าวเปียกในเวียงจันทน์มักไม่โรยหอมเจียวไว้บนหน้าน้ำซุป ทำให้หน้าตาดูจืดๆ

แต่หากเป็นร้านข้าวเปียกทางแขวงภาคใต้ พบว่าแทบทุกร้านจะโรยหอมเจียวเอาไว้ และยังสามารถขอเพิ่มได้หากต้องการ

ร้านข้าวเปียกในแขวงสะหวันนะเขตร้านหนึ่ง เขาเจียวหอมใส่เอาไว้ในถังเล็กๆเพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินไปตักเติมเองได้เลย

ผิดกับร้านก๋วยจั๊บญวนชื่อดังบางแห่งในไทย ที่หากจะขอหอมเจียวเพิ่ม เขาจะคิดเงินเพิ่มอีกถ้วยละ 5-10 บาท

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ที่ภาคใดของลาว และไม่ว่าจะเป็นร้านขายเฝอหรือร้านขายข้าวเปียก สิ่งที่ร้านอาหารของลาวมีเหมือนกันหมดทุกร้าน ก็คือผักที่แถมมาให้กินแกล้มกับเฝอหรือข้าวเปียกแต่ละถ้วย ซึ่งจะมีเป็นจำนวนมาก และมีผักพื้นบ้านหลากหลายประเภท

เรียกว่าอาหารของคนลาวนั้น ไม่หวงผักกันเลยล่ะครับ....



วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

ภาพที่ต้องกลับไปบันทึกที่”หงสา”



จากหลวงพระบาง ผมไม่ได้ใช้เส้นทางเดิมเพื่อกลับเข้าสู่ประเทศไทย แต่เปลี่ยนมาใช้เส้นทางหมายเลข 4 ซึ่งวิ่งจากหลวงพระบางลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จนมาถึงเมืองไชยะบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลักของแขวงไชยะบุรี

เส้นทางหมายเลข 4 จากหลวงพระบางมาไชยะบุรี

ตามเส้นทางหมายเลข 4 จากหลวงพระบาง ต้องผ่านเมืองน่าน(ชื่อเมืองหนึ่งในแขวงหลวงพระบาง) และมาบรรจบกับแม่น้ำโขงที่เมืองปากขอน ซึ่งยังอยู่ในแขวงหลวงพระบาง ที่จุดนี้ต้องข้ามเรือบั๊กเพื่อมายังเมืองท่าเดื่อของแขวงไชยะบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไชยะบุรีไปเพียงไม่ถึง 20 กิโลเมตร

จากหลวงพระบาง มายังเมืองไชยะบุรี ใช้ระยะทางรวม 120 กิโลเมตร

แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างหลวงพระบาง และไชยะบุรี

นำรถข้ามเรือบั๊กจากเมืองปากขอนมาขึ้นฝั่งที่เมืองท่าเดื่อ

เส้นทางหมายเลข 4 ถือเป็นเส้นทางที่สำคัญและมีบทบาทต่อประเทศไทยพอสมควร เพราะเป็นถนนที่เรียกว่าคู่ขนานกับชายแดนด้านตะวันออกของภาคเหนือของประเทศไทย

จากเมืองไชยะบุรี หากวิ่งตามเส้นทางนี้เรื่อยๆมาทางทิศใต้ จะผ่านเมืองเพียง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

ถัดลงมาก็เป็นเมืองปา ที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่จริม จังหวัดน่านอีกเช่นกัน

ต่อจากเมืองปาเป็นเมืองปากลาย ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับอำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์

ถนนสายนี้ มาสิ้นสุดที่เมืองแก่นท้าว ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย

จากไชยะบุรี มาจนถึงเมืองแก่นท้าว ระยะทางรวม 230 กิโลเมตร

ดังนั้น หากอยากไปเที่ยวหลวงพระบางทางรถยนต์ โดยเข้าลาวทางด่านท่าลี่ จังหวัดเลย สามารถเดินทางขึ้นไปตามเส้นทางหมายเลข 4 ระยะทางยาว 350 กิโลเมตร

เมื่อต้นปี 2553 ที่ผมใช้ถนนสายนี้จากหลวงพระบางเพื่อกลับประเทศไทย เส้นทางหมายเลข 4 อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย(ADB) เป็นวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท

ผมออกเดินทางจากหลวงพระบางช่วงสายๆ ด้วยสภาพถนนที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง ทำให้มาถึงเมืองไชยะบุรีทันกินข้าวมื้อเที่ยงในช่วงบ่าย

จากเมืองไชยะบุรี ผมเปลี่ยนมาใช้เส้นทางหมายเลข 44(ไชยะบุรี-หงสา) โดยวกทิศทางกลับขึ้นไปทางเหนือ ถนนสาย 44 นี้มีระยะทางรวมประมาณ 100 กิโลเมตรก็จะถึงเมืองหงสา

เมืองหงสาอยู่ห่างจากเมืองเงิน 35 กิโลเมตร หลังจากนั้นจึงผ่านด่านห้วยโก๋น เพื่อกลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง


จากเมืองไชยะบุรีวิ่งขึ้นมาตามเส้นทางหมายเลข 44 ประมาณ 80 กว่ากิโลเมตรจะเจอสามแยกที่บ้านนาปุ่ง

ถ้าเลี้ยวซ้ายที่สามแยกนี้ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะเข้าสู่เมืองหงสา

แต่หากเลี้ยวขวาจะมีถนนลูกรังที่วิ่งไปอีก 160 กิโลเมตร ผ่านเมืองจอมเพ็ดไปถึงเมืองเชียงแมนซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองหลวงพระบาง ถนนเส้นนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไทยให้ปรับปรุงแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกผู้รับเหม 

เมืองหงสาในวันที่ผมได้ผ่านเป็นครั้งแรกนั้น เป็นเมืองที่กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะจะถูกใช้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ กำลังการผลิตสูงถึง 1,878 เมกะวัตต์

การเปิดหน้าเหมือง และก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้พื้นที่ถึง 76 ตารางกิโลเมตร ทำให้ต้องมีการโยกย้ายประชากรถึงประมาณ 2,000 คนจาก 450 ครัวเรือน ใน 4 หมู่บ้านออกจากพื้นที่ซึ่งเคยอาศัยอยู่เดิม

สภาพเมืองที่เงียบสงบ กำลังต้องพบกับความพลุกพล่านอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน

หงสาเป็นอดีตเมืองหลักของแขวงไชยะบุรี ก่อนที่จะย้ายลงไปอยู่ที่เมืองไชยะบุรีในปัจจุบัน

ประชากรหงสา ประกอบด้วยชาวลาวเทิง ซึ่งเป็นชนเผ่าขมุ และชาวไทลื้อ รวมถึงชาวลาวลุ่มอีกส่วนหนึ่ง อาชีพส่วนใหญ่คือเกษตรกรรม

สำหรับชาวไทลื้อในเมืองหงสา เป็นไทลื้อที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา คนกลุ่มนี้ถูกเทครัวลงมาตั้งแต่ครั้งที่สยาม โดยกองทัพล้านนา อันประกอบด้วยทัพเมืองเชียงใหม่ เชียงราย น่าน และกองทัพหลวงพระบาง ได้แผ่อิทธิพลขึ้นไปถึงเมืองเชียงรุ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 หรือเมื่อ 200 กว่าปีก่อน

ดังนั้นชาวไทลื้อ ทั้งที่อยู่ในหลวงพระบาง หงสา จังหวัดน่าน และเชียงราย จึงถือได้ว่าเป็นพี่เป็นน้องกัน


เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านผานมของหลวงพระบาง เมืองหงสาก็ถือเป็นแหล่งผลิตผ้าป้อนให้กับจังหวัดน่าน ผ้าทอลายน้ำไหลซึ่งเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัดน่าน ส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตของชาวไทลื้อในหงสานี่เอง

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหินที่หงสาเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ผมได้เดินทางผ่านเมืองนี้พอดี แต่ขณะนั้นยังไม่พบกับการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นนัยสำคัญ

ตามกำหนดการ ทั้งโรงไฟฟ้า และเหมืองจะสร้างเสร็จและเปิดเดินเครื่องได้ในปี 2558 หรือใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี

ส่วนการโยกย้ายประชาชน จะเริ่มต้นประมาณกลางปี 2553

ด้วยความที่ผมจำเป็นต้องรีบเดินทางไปให้ทันก่อนด่านห้วยโก๋นจะปิดในเวลา 16.00 น.

เมื่อครั้งที่ผ่านเมืองหงสาครั้งแรกนั้น ทำให้ไม่มีเวลาที่จะหยุดแวะพักเพื่อถ่ายภาพเก็บบรรยากาศภายในเมืองเอาไว้ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงในเมืองนี้จะมาถึง

หลังจากที่ผมผ่านด่านห้วยโก๋น และกลับเข้ามายังประเทศไทยได้ ผมตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าภายในอีกไม่กี่เดือน ก่อนการโยกย้ายชาวบ้าน ผมต้องกลับไปยังเมืองหงสาอีกครั้ง

อีกไม่กี่เดือนต่อมา ประมาณกลางปี 2553 ผมก็ได้เดินทางกลับมายังหงสาจริงๆ

หงสาซึ่งเขียวชอุ่มเมื่อกลับไปอีกครั้ง ตัวเมืองจะอยู่ถัดจากแปลงนาผืนนี้

อีกด้านหนึ่งเมื่อมองจากเนินเขาลูกเดียวกัน คือพื้นที่สำหรับใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหิน ถนนที่เห็นคือทางเข้าโครงการ

สภาพของเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากครั้งแรกที่ผมรีบเดินทางผ่าน เพียงแต่ความชุ่มชื้นของฤดูฝน ทำให้เมืองนี้ดูสงบ และน่าอยู่ยิ่งขึ้นไปอีก

ผมได้มาทันเก็บบรรยากาศของเมืองก่อนการเปลี่ยนแปลงพอดี !!!

ชาวเมืองหงสายังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกผัก เก็บเห็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงปลาฯลฯ

พื้นที่ทำมาหากินของชาวหงสา

ในหมู่บ้านที่เป็นชาวไทลื้อ ก็ยังมีการทอผ้า และการแซว(ปักลาย)บนผืนผ้า เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าตามปกติ

ร้านอาหารเริ่มมีมากขึ้น เพราะเริ่มมีเจ้าหน้าที่ และวิศวกรของบริษัทที่ได้รับสัมปทานสร้างโรงไฟฟ้าเข้าไปพักอาศัยอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง

ยามค่ำคืนในเมืองหงสายังเงียบสงบ แต่เริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางแบบ backpack เข้าไปแล้วจำนวนหนึ่ง

ตลาดเช้าเมืองหงสา

ชาวบ้านนำพืชผลการเกษตรมาวางขายจนถึงเวลาสายๆ ก็เลิก

ผมเข้ามาหงสารอบนี้ มีเวลาอยู่ในเมืองเพียงแค่คืนเดียว วันรุ่งขึ้นก็ต้องรีบออกจากเมือง เพื่อกลับเข้าประเทศไทย เพราะมีโปรแกรมต้องเดินทางต่อไปยังที่อื่น

เนื่องจากฝนที่ตกแทบจะตลอดทั้งวัน ทำให้โอกาสในการบันทึกภาพมีอยู่น้อยมาก

หลังจากออกจากหงสาครั้งที่ 2 เมื่อกลางปี 2553 ผมยังมีความตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าต้องกลับมาที่นี่อีกครั้งให้ได้

ผมวางแผนได้ว่าหลังจากผ่านพ้นฤดูฝนของปีนี้ ผมจะต้องเดินทางไปยังเมืองหงสาอีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเหมืองได้เดินหน้าไปแล้วครึ่งทาง

คราวนี้ คงไม่มีอุปสรรคอะไรเข้ามารบกวนการเก็บภาพบรรยากาศในเมืองหงสาของผมอีก...




วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“ผานม”ชุมชนไทลื้อหลวงพระบาง



ออกจากเมืองแบ่ง ศูนย์กลางซื้อ-ขายวัตถุดิบ(ดอกต้นก๋ง)ในการผลิตไม้กวาดที่ส่งออกกลับมายังประเทศไทยเพื่อมามาบรรจบกับเส้นทางสาย 13(เหนือ) ที่เมืองไชย เมืองเอกของแขวงอุดมไชย ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง

จากจุดนี้ เมื่อต้องเดินทางลงไปยังหลวงพระบาง ใช้ระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่วิ่งอยู่บนเขาประมาณ 90 กิโลเมตร

ในวันที่ผมใช้ถนนเส้นนี้เมื่อต้นปี 2553 สภาพถนนแม้มีหลุมมีบ่ออยู่บ้าง แต่ก็ถือว่ายังใช้ได้ มีปริมาณรถที่ใช้ถนนสายนี้พอสมควร

แถมบางช่วง ยังพบกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชาวตะวันตกทั้งหญิง-ชาย มาปั่นจักรยานกัน ซึ่งมีทั้งปั่นเป็นกลุ่มๆ และปั่นเดี่ยวๆ

ป้ายบอกเส้นทางที่เมืองไชย

พอลงจากเขาจะพบกับสามแยกน้ำบากซึ่งต้องเลี้ยวขวา เพราะหากตรงไปจะเข้าไปเส้นทางสู่เมืองหัวพันของแขวงซำเหนือ

จากสามแยกน้ำบากเป็นต้นมา สภาพถนนเรียบเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีหลุมบ่อ และมีบางช่วงที่เป็นถนนเลียบไปกับแม่น้ำอู

ผมออกเดินทางจากเมืองไชยประมาณ 10 โมงเช้า และมาถึงหลวงพระบางประมาณเกือบ 4 โมงเย็น เพราะมีการแวะพักระหว่างทางเป็นระยะ

แม่น้ำอู

หลวงพระบางในวันที่ผมมาถึงนั้น กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ แม้ว่ายังคงอนุรักษ์จุดเด่นของเมืองที่เป็นมรดกโลกเอาไว้ในหลายๆจุด เช่นการห้ามสร้างอาคารเกิน 2 ชั้น ในบริเวณศูนย์กลางของตัวเมือง

แต่กระแสทุนก็พยายามเจาะแทรกเข้าไปได้แล้วในหลายๆจุดเช่นกัน

นักท่องเที่ยวเดินกันคราคร่ำริมฝั่งโขง บ้านเรือนถูกปรับสภาพขึ้นมาเป็นร้านอาหาร เฮือนพัก และมีโรงแรมสร้างใหม่เปิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

เรื่องราวของหลวงพระบางคงไม่สามารถบรรยายในตอนนี้ได้ทั้งหมด ผมคิดว่าต้องเดินทางมายังเมืองนี้อีกหลายรอบ เพื่อสะสมข้อมูลและค้นหามุมมองใหม่ๆ ค่อยนำมาเล่าแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่ง...

แต่สำหรับการเดินทางมายังหลวงพระบางครั้งนี้ ผมพยายามหาสถานที่ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นเมืองหลวงพระบาง ที่ไม่ใช่เป็นหลวงพระบางในมิติ-มุมมองของชาวตะวันตก

หมู่บ้านผานม

มีคนแนะนำให้ผมลองไปเที่ยวยังชุมชนเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งยังพยายามคงเสน่ห์ของความเป็นหลวงพระบางในอดีตเอาไว้ มีชื่อว่าหมู่บ้าน”ผานม”

บ้านผานมเป็นชุมชนไทลื้อดั้งเดิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคาน ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 4 กิโลเมตร  มีประชากรอยู่ประมาณ 250 หลังคาเรือน

เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของชาวไทลื้อก็คือการทอผ้า บ้านของคนไทลื้อมักสร้างเป็นบ้านใต้ถุนสูง ที่ใต้ถุนจะมีกี่ทอผ้าประจำไว้ทุกบ้าน

ลูกสาวของคนไทลื้อจะถูกสอนให้ทอผ้าเป็นตั้งแต่ยังเด็ก

ส่วนเสาบ้านของไทลื้อจะไม่ฝังลงไปในดิน แต่จะวางเสาไว้บนหลักหิน เล่ากันว่าเผื่อต้องการย้ายบ้าน สามารถยกบ้านไปได้ทั้งหลัง !!!

บ้านไทลื้อดั้งเดิมที่วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน

ที่บ้านผานม กลิ่นอายของชุมชนไทลื้อเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะสภาพของบ้านเรือน มีการประยุกต์รูปแบบบ้านให้เข้ากับยุคสมัย บ้านใต้ถุนสูงแบบไทลื้อดั้งเดิมมีเหลืออยู่น้อย บ้านบางหลังกั้นผนังในส่วนที่เคยเป็นใต้ถุนให้เป็นชั้นล่าง และมีการก่อสร้างบ้านในรูปทรงสมัยใหม่เพิ่มมากขึ้น

บ้านที่ถูกประยุกต์หรือสร้างใหม่ ในบ้านผานม

แต่สิ่งที่บ้านผานมพยายามคงเอกลักษณ์สำคัญของไทลื้อเอาไว้ ก็คือการทอผ้า

ในอดีต บ้านผานมเคยเป็นแหล่งทอผ้าถวายให้กับเจ้ามหาชีวิตและราชสำนักของหลวงพระบาง ปัจจุบันผ้าทอจากบ้านผานมมีชื่อเสียงมาก มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้านตั้งเป็นศูนย์หัตถกรรมทอผ้า มีการสาธิตกระบวนการทอผ้า รวมถึงผลิตเป็นสินค้าให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ผ้าผืน เสื้อผ้า กระเป๋า ย่ามฯลฯ

สาธิตการทอผ้า

ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน มาช่วยขายผ้า

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าที่ทำมาจากเครื่องเงิน สาธิตการทำเครื่องเงิน  รวมถึงนำศิลปวัตถุ รวมถึงวัตถุโบราณที่เป็นสัญลักษณ์ของหลวงพระบางในอดีตมาแสดงไว้ด้วย

สาธิตการทำเครื่องเงิน

ของที่ถูกแสดงอยู่ในศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงินของบ้านผานม มีตั้งแต่ภาพของเจ้ามหาชีวิตในอดีต รูปภาพเมืองในสมัยก่อน เงินกีบของลาวที่เคยถูกใช้ตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลองมโหระทึกที่ทำจากโลหะ ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นโต๊ะฯลฯ

ที่สำคัญคือมีรัฐธรรมนูญของลาว ในสมัยที่ยังไม่ได้ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ถูกนำมาโชว์ไว้ในตู้ด้วย

รัฐธรรมนูญลาว สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กลองมโหระทึกที่นำมาประยุกต์เป็นโต๊ะ

ได้เดินเล่นชมสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านผานม ได้รับถึงความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการเดินเล่นริมแม่น้ำโขงของเมืองหลวงพระบาง

บรรยากาศทั่วไปของผานมยังคงความเป็นบ้านๆ และเป็นบ้านๆแบบไทๆ คล้ายๆกับบรรยากาศของชุมชนในภาคเหนือของประเทศไทย ยุคสมัยเมื่อประมาณสัก 20 กว่าปีก่อน

ซึ่งเป็นยุคที่ความเจริญตามระบบทุนเพิ่งเริ่มต้นเข้าไปถึง...

วิถีแบบไทๆของชาวบ้านผานม

ผมใช้เวลาเดินเล่นอยู่ในหมู่บ้านผานมประมาณ 2 ชั่วโมง ซึมซาบกับภาพต่างๆที่พบเห็นเอาไว้พอสมควร

สิ่งที่อยู่ในหัว ตอนที่กำลังจะออกจากหมู่บ้านแห่งนี้เพื่อเดินทางกลับเข้าไปในเมืองหลวงพระบาง ผมคิดเพียงแค่ว่า ถ้ามาครั้งหน้าขออย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมได้พบเห็นในการมาเยือนครั้งนี้มากนัก

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว !!!