วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สาวไทใหญ่ร่างเล็ก...กับภารกิจที่ไม่เล็กเหมือนกาย

เธอเป็นคนตัวเล็ก เมื่อสวมปีกแต่งชุดกิ่งกะหร่า เดินอยู่ในขบวนแห่จองพารา คนมักเข้าใจว่าเธอเป็นเด็กนักเรียน ที่โรงเรียนส่งมาร่วมแสดงในเทศกาลปอยเหลินสิบเอ็ด

เมื่อได้เห็นลีลา ท่วงท่าการรำกิ่งกะหร่าของเธอ ทุกคนล้วนตื่นตา สนใจว่าเด็กนักเรียนตัวเล็กๆผู้นี้ ใยร่ายรำได้คล่องแคล่วเหลือเกิน

เธอมีจิตวิญญานในการแสดงสูงมาก ทุกครั้งที่เสียงดนตรีดังขึ้น ทุกสัดส่วนในร่างกายของเธอต้องขยับ ร่ายรำรับกับจังหวะกลอง ฆ้อง ฉาบ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย

ด้วยสีหน้าและท่วงท่ารำของเธอ คนที่ร่วมเดินในขบวน คนที่ยืนชมอยู่รอบนอก พลอยสนุกสนานจนอดไม่ได้ หลายคนแอบขยับมือ ขยับเท้า ออกจังหวะไปพร้อมกับเธอ


         ท่วงท่าและลีลาการรำกิ่งกะหร่าที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ไม่น้อย


เมื่อมีโอกาสได้สนทนาด้วย จึงรู้ว่าเธอไม่ใช่เด็กนักเรียนอย่างที่หลายคนเข้าใจ...

“ยุ้ย”เสาวณีย์ สุขิตตาธิกุล อายุ 23 ปี กำลังเรียนอยู่คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกแนะแนว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เธอสูงเพียง 140 เซ็นติเมตร

ยุ้ยเป็นคนไทย เชื้อสายไทใหญ่ เป็นชาวแม่ฮ่องสอนโดยกำเนิด


ความสนุกสนานของคนรอบข้าง เมื่อได้เห็นท่วงท่าการร่ายรำกิ่งกะหร่าที่ไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย

ครอบครัวของยุ้ยย้ายจากเมืองนาย รัฐฉาน มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านในสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน โดยย่าและพ่อของเธอย้ายเข้ามาก่อน ส่วนแม่ของเธอย้ายตามมาเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว

เมืองนายอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ห่างจากแม่ฮ่องสอนประมาณ 170 กิโลเมตร  เป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ เพระเป็นปลายทางของเส้นทางการค้าและการเดินทัพ ระหว่างเชียงใหม่และหัวเมืองไทใหญ่ในอดีต


“ยุ้ย” เสาวณีย์ สุขิตาธิกุล ในวันที่ได้สนทนากับผู้เขียน
ยุ้ยและพี่สาวอีก 2 คน เกิดในประเทศไทย

เธอเริ่มฝึกรำกิ่งกะหร่าตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 โรงเรียนบ้านในสอย ขณะที่มีอายุ 14 ปี

แต่เป็นการเรียนรู้จากผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่เธอนับถือเป็นลุง ไม่ได้เรียนจากในโรงเรียน

“สอนกันแบบบ้านๆ ลุงจะรำให้ดูก่อน จากนั้นค่อยสอนการวางเท้า วางมือ ท่ารำแต่ละท่า จากรำมือเปล่า ต่อมาก็รำโดยใส่ปีก”เธอเล่า

การสอนแบบนี้มีอยู่ทั่วไปตามชุมชนไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการถ่ายองค์ความรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมไต เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านั้นได้รับการสืบทอดต่อเนื่อง จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นถัดไป

ลุงผู้สอนเห็นว่ายุ้ยเป็นคนตัวเล็ก จึงแนะนำให้เธอฝึกรำกิ่งกะหร่า ให้เหตุผลว่าจะทำให้เธอมีโอกาสรำได้หลายปีกว่าเพื่อนคนอื่นๆที่อยู่ในรุ่นเดียวกัน

ซึ่งก็เป็นจริง...

จากเริ่มต้นที่ใช้เวลาวันละ 1-2 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน ไปฝึกรำกิ่งกะหร่าที่บ้านของลุง เมื่อเริ่มชำนาญ ยุ้ยได้ออกแสดงในนามของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านในสอย และสามารถทำได้ดี

ความรักและผูกพันธ์ต่อศิลปะ ที่บ่งบอกตัวตนความเป็นไทใหญ่ของเธอ จึงถูกบ่มเพาะขึ้น

ถึงปัจจุบัน ยุ้ยเป็นนางรำกิ่งกะหร่าของบ้านในสอยมาแล้วถึง 10 ปีเต็ม ทุกครั้งที่เธอได้มีโอกาสร่ายรำกิ่งกะหร่า เป็นช่วงเวลาที่เธอมีความสุข

“ถ้าได้ยินเสียงดนตรีขึ้น จะรำไม่หยุด เป็นอย่างนั้นทุกปี บางปีคนที่รำด้วยเขาจะไม่ชอบ เพราะเขาเหนื่อย ครั้งหนึ่งเคยรำคู่กับเด็ก น้องเขาบอกเลยว่าพี่พอเถอะ น้องเหนื่อยแล้ว”

ในฐานะนางรำกิ่งกะหร่าของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านในสอย หลายปีมาแล้ว ที่ยุ้ยมีงานใหญ่ซึ่งเธอต้องไปรำเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คือเทศกาลออกพรรษา กับลอยกระทง

แต่หากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีกำหนดการต้องนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ ให้กับบุคคลภายนอก เธอมักถูกเรียกใช้ให้ไปแสดงการรำกิ่งกะหร่า โดยเธอเคยไปรำโชว์มาแล้วทั้งในกรุงเทพ และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ



คนที่ได้ไปชมขบวนแห่จองพาราที่แม่ฮ่องสอนทุกปี ต้องคุ้นหน้าคุ้นตาเธอ หลายคนแอบบันทึกภาพของเธอไว้ ตัวอย่างเช่น 2 ภาพข้างต้น ชาวญี่ปุ่นที่ได้ไปเที่ยวชมถ่ายภาพเธอขณะที่กำลังรำในขบวน โดยภาพซ้ายถ่ายในปี 2552 ส่วนภาพขวาถ่ายในปี 2553 จากนั้นได้นำภาพไปใส่กรอบ แล้วนำกลับมาให้เธอระหว่างที่กำลังรำอยู่ในขบวนแห่จองพาราปี 2554


“กิ่งกะหร่าเป็นการแสดงขั้นสูง ต้องแสดงในงานที่เป็นมงคลเท่านั้น งานศพก็ห้าม”เธอบอกถึงกฏแห่งความศรัทธาในสิ่งที่เธอแสดง

“กิ่งกะหร่าจะมีท่ารำหลักๆ ซึ่งเป็นท่าพื้นฐาน จากนั้นผู้รำแต่ละคนสามารถสร้างสรรค์ท่าของตนเองได้ แต่ต้องยึดหลักที่ว่ากิ่งกะหร่าคือการเคลื่อนไหวเลียนแบบนก ผู้รำต้องจินตนาการว่าตนเองเป็นนกไม่ใช่เป็นคน ท่ารำแต่ละท่าจึงเป็นการแสดงออกของนกไม่ใช่คน”เธออธิบาย พร้อมเสริมว่า

“ในแม่ฮ่องสอน แม้นท่ารำพื้นฐานจะคล้ายกัน แต่ว่าแต่ละชุมชนจะมีเอกลักษณ์ในการรำแตกต่างกัน บ้านในสอยรำอย่างหนึ่ง ที่แม่สะเรียง ที่ขุนยวม ก็จะมีท่ารำอีกอย่างหนึ่ง”

เธอให้เหตุผลว่า เนื่องจากผู้ที่ถ่ายทอดการรำของแต่ละชุมชน เป็นคนละคนกัน

”แต่ละที่ก็มีครูของเขาเอง”

จากลูกศิษย์ที่เรียนและฝึกฝนการรำกิ่งกะหร่ากับลุงที่เป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน วันนี้ยุ้ยได้ก้าวขึ้นการเป็นครูสอนการรำกิ่งกะหร่าให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านในสอย และอีกหลายโรงเรียนที่ขอให้เธอไปช่วยสอน

ลูกศิษย์ของเธอเป็นเด็กนักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมปีที่ 5

“ลูกศิษย์กับครูตัวสูงเท่ากันเลย”เธอเล่าแบบมีอารมณ์ขัน

เด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านสบป่อง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกศิษย์ของยุ้ย
นอกจากนี้ ในระดับตำบล เมื่อมีการจัดประกวดการรำกิ่งกะหร่าในระดับเยาวชน เธอก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการตัดสิน

การสอนในระดับอนุบาล แม้จะเป็นงานที่เหนื่อย เพราะเด็กเล็กขนาดนี้ อาจยังไมค่อยรู้เรื่องอะไรมาก แต่เธอมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้ปลูกฝังวัฒนธรรม ความเป็นไทใหญ่ให้แก่คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ยังเล็กๆ

“คนไทใหญ่เน้นมากเรื่องวัฒนธรรม”เธอตัวอย่างว่า“เวลาไปหาย่า ถ้าใส่กางเกงขาสั้นไปจะโดนว่า โดนดุ ต้องใส่ผ้าถุง แล้วผ้าถุงที่ใส่ก็ต้องถูกหลักด้วยว่าต้องห่มคลุมลงไปถึงตาตุ่ม”

ในวันพระ หรือยามเทศกาลที่เธอว่างเว้นจากงานรำกิ่งกะหร่า เธอมักจะแต่งชุดไทใหญ่เพื่อไปทำบุญที่วัด ซึ่งเธอบอกว่าเมื่อได้มีโอกาสแต่งชุดไทใหญ่ ทำให้เธอมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ตัวตนของเธอ

“ชุดไทใหญ่ ถ้าคนไทใหญ่ไม่ใส่ แล้วจะให้ใครใส่”เธอกล่าวทิ้งท้าย


แม้นร่างกายเธอจะเล็ก แต่ภารกิจของเธอ “ยุ้ย”เสาวณีย์ สุขิตตาธิกุล มิได้เล็กตามไปด้วย...


ความโดดเด่นในตัวของเธอ มิได้มีแต่เพียงการรำกิ่งกะหร่าเท่านั้น ทุกวันนี้ ยุ้ยยังเป็นนักกีฬาเปตองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ไปแข่งขันในนามของจังหวัด และนำเหรียญรางวัลมาสู่จังหวัดแล้วหลายเหรียญด้วยกัน


เธอบอกว่าเธอตั้งใจเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกแนะแนว เพราะต้องการทำงานช่วยเหลือชุมชน บ่อยครั้งที่เธอรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้วจากคนรู้จัก แอบติดไปรถขนส่งเสบียงอาหารของสหประชาชาติที่ขึ้นไปยังค่ายผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อนำเสื้อผ้าที่รวบรวมได้ไปบริจาคให้กับผู้อพยพเหล่านั้นด้วยตัวเอง ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้อยู่ตรงตะเข็บชายแดน ห่างจากบ้านของเธอไปประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ลำบากและเสี่ยง ในภาพเป็นอีกบุคลิกหนึ่งของเธอในเครื่องแบบอาสาสมัตรตำรวจบ้าน










1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1 พฤษภาคม 2558 เวลา 20:07

    อยากรู้เรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้าน ศาลพระภูมิ เจ้าที่ ของชาวไตใหญ่

    ตอบลบ