วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตัวตน คนลื้อ(2)...ที่เชียงรุ่ง


“อย่าเดินเลย...สูง เดี๋ยวเรานั่งรถแบตเตอรี่ขึ้นไปดีกว่า”

อาเหวินนรีบบอกกับพวกเรา ขณะกำลังจะก้าวขาเดินขึ้นบันไดสูงนับ 100 ขั้น เพื่อไปกราบองค์พระประธานที่อยู่เกือบถึงยอดเนินเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดหลวงเมืองลื้อ แห่งเมืองเชียงรุ่ง

“รถแบตเตอรี่?” ผมทวนคำพร้อมกับสีหน้าสงสัย

อาเหวินไม่ตอบ แต่ชี้มือไปด้านหลัง ”นั่นไง มาแล้ว”

รถที่มาจอดเทียบข้างๆเรา คือรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือที่บ้านเรามักเรียกกันติดปากว่ารถกอล์ฟ!!!

รถแบตเตอรี่พาเราวนตามถนนรอบเนินเขา ขึ้นไปจนถึงลานซึ่งเป็นที่ตั้งของพระประธาน วิหาร และโบสถ์ของวัด

เมืองเชียงรุ่ง เมื่อมองจากวัดหลวงเมืองลื้อ

คำว่า“รถแบตเตอรี่”ของอาเหวิน วนเวียนอยู่ในหัวของผมตลอดการเที่ยวชมวัดหลวงเมืองลื้อในวันนั้น

“ก็เป็นคำที่น่ารักดี” ผมคิดในใจ...

ผมไม่รู้จักกับอาเหวินโดยตรง เธอเป็นเพื่อนของรุ่นน้องของผมคนหนึ่ง ที่ร่วมนั่งรถจากเชียงใหม่ขึ้นไปยังเมืองเชียงรุ่งด้วยกันเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน

อาเหวินอาศัยอยู่ในเชียงรุ่ง เธอจึงรับอาสาเป็นไกด์ชั่วคราวเพื่อพาชมสถานที่ต่างๆในตัวเมือง

อาเหวินอายุประมาณ 35 ปี เป็นคนลื้อ เกิดและโตในเมืองเชียงรุ่ง แต่เธอเติบโตมาในยุคที่เชียงรุ่งกำลังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาวฮั่นที่ได้อพยพ ย้ายถิ่นฐานจากดินแดนทางตอนเหนือเข้ามาอยู่ในเชียงรุ่งเป็นจำนวนมาก

หากดูจากภาพภายนอก แทบไม่มีสิ่งใดที่บ่งบอกถึงความเป็นคนลื้อของอาเหวิน เธอแต่งตัวเหมือนชาวจีนที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศจีน ใช้ภาษาแมนดารินในการสนทนาสื่อสารกับคนอื่นๆ เพียงแต่เมื่อเธอคุยกับพวกเรา เธอจะใช้ภาษาไทย

อาเหวินพูดไทยได้ชัด และคล่องแคล่วมาก

รุ่นน้องของผมบอกว่า ที่เขารู้จักกับอาเหวิน เพราะว่าเธอเคยเข้ามาทำงานในเมืองไทยอยู่ระยะหนึ่ง

เรื่องของอาเหวินและความเป็นคนลื้อของเธอ จุดประกายให้ผมสนใจในเรื่องราว และความเป็นไปของคนลื้อที่อยู่ในเมืองเชียงรุ่ง


แม่น้ำโขงหรือที่คนเชียงรุ่งเรียกว่าลั่นซั่งเจียง ซึ่งไหลผ่านกลางเมืองเชียงรุ่ง

เชียงรุ่ง เป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา อยู่ห่างจากชายแดนไทยจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายขึ้นไปประมาณ 500 กิโลเมตร

สิบสองปันนาในอดีตเป็นเมืองของคนลื้อ ประชากรส่วนใหญ่ของสิบสองปันนาคือคนลื้อ

สมัยที่ยังไม่มีการตีเส้นแบ่งเขตเป็นประเทศเหมือนในปัจจุบัน สถานภาพของสิบสองปันนาขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของรัฐขนาดใหญ่กว่าที่อยู่รายรอบ ทั้งจีน พม่า สยาม

โดยธรรมเนียมในอดีต เมื่อรัฐใดที่มีอิทธิพลต่อสิบสองปันนามากที่สุด ก็มักกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนาเข้าไปอยู่ในรัฐของตน เพื่อให้เป็นกำลังทหาร หรือเป็นแรงงานในการปลูกข้าว

ดังนั้น ชุมชนของชาวลื้อที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป ทั้งในประเทศไทย ลาว ตลอดจนรัฐฉานของพม่าในปัจจุบัน ล้วนมีถิ่นฐานดั้งเดิมมาจากสิบสองปันนาทั้งสิ้น

แต่ในที่สุด เมื่อร้อยกว่าปีก่อน สิบสองปันนาก็ต้องตกเป็นรัฐที่ขึ้นอยู่กับจีน

ช่วงที่จีนกำลังมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ เหมาเจ๋อตุงผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ได้ให้ขอพลังสนับสนุนจากบรรดาชนกลุ่มน้อยต่างๆที่อยู่ในประเทศจีน โดยสัญญาว่า หากพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ สามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้ จะให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองกับชนกลุ่มน้อยเหล่านี้

หลังจีนเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง สิบสองปันนาจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา โดยผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าเขตปกครองพิเศษนี้ ต้องเป็นคนในท้องที่ ซึ่งขณะนั้นยังคงมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวลื้อ

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เป็นเขตปกครองตนเอง แต่ในช่วงที่จีนได้มีการปฏิวัติวัฒนธรรม ความเป็นตัวตนของคนลื้อที่นี่ ได้ถูกกดทับเอาไว้ จากนโยบายของรัฐบาลกลางที่ต้องการสลายความเป็นตัวตนของประชากรทุกคนภายในประเทศ เพื่อให้รับกับระบอบคอมมิวนิสต์

เครื่องบ่งชี้ ที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของคนลื้อจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม หลายสิ่ง และสถานที่หลายแห่งถูกทำลาย ภาวะการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องกันนานนับ 10 ปี

จนเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงมีนโยบายเปิดประเทศ โดยเริ่มนำระบบทุนนิยมเข้ามาประยุกต์ใช้ผสมผสานกับรูปแบบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ สิบสองปันนาได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์พื้นที่หนึ่งตามนโยบายนี้

นโยบายที่รัฐบาลกลางมีต่อสิบสองปันนาจึงถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง


การก่อสร้างที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเชียงรุ่ง

สิบสองปันนาได้ถูกกำหนดให้เป็นประตูเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆที่อยู่ด้านล่าง ทั้งพม่า ลาว และไทย เพื่อหวังผลในการขยายเส้นทางคมนาคม เปิดทางออกสู่ทะเลให้กับทั้งผู้คนและบรรดาสินค้าประเภทต่างๆของจีน

จีนได้ผลักดันให้มีการสร้างเส้นทาง 2 สาย คือ สาย R3a จากเมืองบ่อหานของสิบสองปันนา ผ่านเข้าเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาของลาว มาถึงชายแดนลาว-ไทย ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 240 กิโลเมตร

อีกเส้นทางหนึ่ง คือสาย R3b จากเมืองต้าลั่ว เขาสู่เมืองลา ของพม่า ผ่านเมืองเชียงตุง มาถึงเมืองท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร

มีการสนับสนุนให้ประชากรจีนที่เป็นชาวฮั่นจำนวนมาก อพยพโยกย้ายเข้ามาลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองเชียงรุ่ง โดยชาวฮั่นเหล่านี้ ได้มากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆในเมืองเชียงรุ่งจากคนลื้อ ในขณะที่คนลื้อส่วนใหญ่ก็ถูกเบียดให้ต้องออกไปหาที่อยู่อาศัยใหม่บริเวณรอบนอกของตัวเมือง

ส่วนคนลื้อที่ยังคงอยู่ ก็ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากชาวฮั่น ที่ค่อยๆแผ่ขยายเข้ามาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยนโยบายนี้ ทำให้ในปัจจุบัน เมื่อใครได้เดินทางเข้าไปในเมืองเชียงรุ่ง โอกาสที่จะได้พบกับคนที่พูดภาษาลื้อได้มีน้อยลง ธุรกิจ กิจการ ตลอดจนร้านค้า ร้านรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายสินค้า ขายอาหาร ที่อยู่ในเมืองเชียงรุ่งส่วนใหญ่ ล้วนตกอยู่ในการครอบครองของชาวฮั่น

รูปแบบการดำรงชีวิตในเชียงรุ่งทุกวันนี้ จึงไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆของจีนโดยทั่วไป

เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นประจักษ์พยานได้อย่างดีที่ผมและคณะได้ประสพกับสายตาตนเองจากการเดินทางไปเชียงรุ่งเที่ยวนี้

คือขณะที่ผมและเพื่อนๆกำลังเดินชมเมืองอยู่ริมถนนสายหนึ่ง มีรถตำรวจคันหนึ่งเปิดเสียงและสัญญานไซเร็นกำลังวิ่งมาบนถนนที่รถค่อนข้างคับคั่ง เมื่อถึงสี่แยก รถตำรวจดังกล่าวกำลังจะเลี้ยวซ้าย แต่รถที่มาทางตรงในเลนที่สวนกับรถตำรวจคันนี้ แทนที่จะหยุดหรือชลอรถเพื่อให้ทางกับรถตำรวจคันนี้ได้เลี้ยวก่อน กลับบีบแตรและเร่งความเร็วเพื่อให้ได้แล่นผ่านสี่แยกก่อน จนรถตำรวจต้องเบรดเสียงเอี๊ยดดังลั่น!!!

ครั้งหนึ่ง ผมเคยมีโอกาสได้ไปอยู่ร่วมในพิธีต้อนรับนางเตา หลินอิน ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา เมื่อครั้งที่เดินทางโดยรถยนต์จากเมืองเชียงรุ่ง ผ่านลาว และนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงมาเข้าเขตแดนประเทศไทย ที่อำเภอเชียงของ เมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2552

ทั้งๆที่เชียงของ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีชาวลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พิธีต้อนรับผู้ว่าการเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา กลับจัดโดยมีกลิ่นอายของความเป็นจีนมากกว่าความเป็นลื้อ...



อย่างไรก็ตาม แรงปะทะทางวัฒนธรรมจากชาวฮั่น ซึ่งระยะหลัง ดูเหมือนได้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเชียงรุ่งไปแล้ว ได้ก่อให้เกิดความต้องการที่จะแสดงตัวตนของคนชาวลื้อออกมา ประหนึ่งเป็นการตอบโต้ เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าเมืองแห่งนี้ เคยเป็นเมืองของคนลื้อ

ซึ่งจะบังเอิญหรือจงใจหรือไม่ก็ตาม ความต้องการการแสดงตัวตนดังกล่าว ประจวบเหมาะกับนโยบายของรัฐบาลกลางของจีน ที่เริ่มมองเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเป็นแหล่งรายได้หลักจำนวนมากให้กับประเทศ

ด้วยความที่จีนเป็นประเทศใหญ่ รัฐบาลกลางจึงมีนโยบายสนับสนุนให้คนจีนส่วนหนึ่ง เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศ ด้วยการชูเอกลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามเมืองต่างๆ ให้ขึ้นมาเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนจีนที่อยู่ในที่อื่นๆได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยว

ตัวตนของคนลื้อในเชียงรุ่ง จึงได้ถูก“ประดิษฐ” และ“สร้าง”ให้กลับคืนมาใหม่ เพื่อให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนจากพื้นที่อื่นๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ให้เดินทางเข้ามาเที่ยว

มีการสนับสนุนให้คนลื้อแสดงตัวตนของตนเองออกมาผ่านการแต่งกาย แต่เป็นเครื่องแต่งกายที่ประยุกต์ให้เข้ากับสมัยใหม่มากขึ้น มิได้เป็นเครื่องแต่งกายแบบลื้อในอดีต แต่ก็พอจะทำให้เห็นถึงความแต่งต่างระหว่างคนลื้อ กับคนอื่นๆทั่วไปได้ค่อนข้างชัด


คนลื้อที่เชียงรุ่ง ในชุดแบบดั้งเดิม
ชุดลื้อที่ประยุกต์

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เข้ามาลงทุนสร้างเขตเศรษฐกิจ และเขตที่อยู่อาศัยจำนวนมากในเมืองเชียงรุ่ง โดยเน้นย้ำในการชูเอกลักษณ์ของความเป็น“ลื้อ” ให้เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของอาคาร

รวมถึงชื่ออาคาร ชื่อของกิจการหรือบริษัทต่างๆ ชื่อถนน ตลอดจนป้ายบ่งบอกทิศทางที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆในเมืองเชียงรุ่ง ก็ถูกำหนดให้มีตัวอักษรภาษาลื้อกำกับไว้ด้วย นอกเหนือจากตัวอักษรจีน

ชื่ออาคารในเชียงรุ่งซึ่งประกอบไปด้วยภาษาลื้อ ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ

มีการจัดแสดงโชว์พาราณสี ซึ่งถือเป็นการแสดงหลักของเมือง จัดให้มีชุมชนลื้อดั้งเดิมที่เรียกกันว่ากาลันปา ตลอดจนป่านกยูง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำเมืองเชียงรุ่ง เพื่อไว้รองรับนักท่องเที่ยว

สิ่งต่างๆที่นำมาแสดง ล้วนเป็นเรื่องราวในอดีตของสิบสองปันนาและเชียงรุ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์กับพระพุทธศาสนา

วัดหลวงเมืองลื้อที่ผมได้ไปเยี่ยมชม ซึ่งถูกสร้างให้เป็นวัดประจำเมืองเชียงรุ่ง ตั้งอยู่บนเนินเขา ที่สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดจากในตัวเมือง ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่อยู่ในกระบวนการนี้...




การแสดงวัฒนธรรมชาวลื้อ ในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าข้ามแดนที่เชียงรุ่งเมื่อปี 2554

“รถแบตเตอรี่” ผมทวนคำพูดของอาเหวิน

นโยบายนี้ เป็นเหมือนแบตเตอรี่ที่มาให้พลังงานกับคนลื้อได้มีโอกาศฟื้นความเป็นตัวตนของตนเองให้กลับคืนมาใหม่

แต่ตัวตนของคนลื้อในเชียงรุ่งและสิบสองปันนา จะดำเนินต่อไปในทิศทางเช่นไร จะเป็นเพียงการแสดงตัวตนออกมาในเชิงกายภาพ ภายใต้บริบททางสังคมที่ความเป็นทุนนิยมได้ก้าวหน้าและมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆหรือไม่นั้น

คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกาลเวลา...



วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จุลกฐิน...ตัวตน คนลื้อ


“ออกพรรษาแล้ว ช่วงนี้ต้องช่วยกัน หมั่นไปดูแลต้นฝ้ายที่วัดให้ดี เพราะใกล้ถึงงานจุลกฐินแล้ว”



พรนึกถึงคำพูดของพ่อ ที่มักพร่ำบอกกับลูกๆทุกคน ในทุกๆปี เมื่อถึงช่วงเทศกาลออกพรรษา

ครอบครัวของพรอาศัยอยู่ในชุมชนชาวลื้อ ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สิ่งที่เขาเห็นเป็นประจำมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อผ่านพ้นวันออกพรรษา ความคึกคักจะเริ่มคืบคลานเข้ามาสู่ชุมชนของเขา

ผู้อาวุโสของหมู่บ้าน จะเกณฑ์คนให้ไปบำรุงรักษาต้นฝ้ายที่ปลูกไว้ เพราะเป็นขั้นตอนสำคัญ ของการเริ่มต้นประเพณีจุลกฐิน

บ้านของพรอยู่ใกล้วัด พ่อจึงอาสาเป็นหลักในการดูแลแปลงต้นฝ้าย

พรมักเป็นลูกมือของพ่อในภารกิจนี้ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมื่อพ่ออายุมากขึ้นแล้ว เขาจึงอาสารับภารกิจนี้แทน...

ในชุมชนชาวลื้อ เมื่อถึงประเพณีจุลกฐิน ทุกคนจะพร้อมใจกันแต่งชุดลื้อเพื่อมาร่วมงานบุญ
(ภาพประกอบเรื่องราวนี้ บันทึกจากงานจุลกฐิน ที่วัดท่าข้ามศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน พ.ศ.2555)
“จุลกฐิน”ตามภาษาลื้อ หมายถึง”ผ้าทันใจ”

เป็นกฐินประเภทหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนชุมชน ที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันเร่ง“ผลิต”ผ้ากฐินให้เสร็จภายในคืนเดียว เพื่อให้ทันถวายพระตอนรุ่งเช้า

คำว่า“ผลิต”ในที่นี้ หมายรวมหมดทั้งกระบวนการ

ตั้งแต่การเก็บปุยฝ้ายจากต้นฝ้ายที่ได้ปลูกเตรียมไว้ นำปุยฝ้ายที่เก็บได้ ไปหีบเพื่อเอาเมล็ดออก ตีปุยฝ้ายให้ฟูและดึงเป็นเส้นเพื่อปั่นให้เป็นด้าย นำด้ายไปกรอใส่หลอด และนำเส้นฝ้ายจากหลอดไปทอเป็นผ้า

เมื่อทอจนได้เป็นผ้าผืนออกมาแล้ว นำมาย้อมสีและตัดเย็บให้เข้ารูปเป็นผ้ากฐิน เสร็จแล้วจึงพับใส่พาน เตรียมไว้ให้พร้อมสำหรับพิธีถวายผ้ากฐินในตอนเช้า

หีบฝ้าย
จุลกฐินเป็นงานประเพณีที่พบได้เฉพาะในประเทศไทยและลาว โดยในไทย มักทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสาน คนอีสานเรียกกฐินชนิดนี้ว่า"กฐินแล่น"

สำหรับชาวลื้อแล้ว จุลกฐินถือเป็นประเพณีที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  เพราะวัฒนธรรมของลื้อนั้น มี 2 สิ่งที่โดดเด่น แสดงถึงตัวตนของความเป็นคนลื้อ นั่นคือการนับถือพุทธศาสนา และการทอผ้า…

ปั่นฝ้าย
“...จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวไทลื้ออย่างมั่นคง ชาวไทลื้อทุกชนชั้นมีหน้าที่สำคัญในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ทั้งการเผยแผ่ศาสนธรรม สร้างศาสนวัตถุ-ศาสนสถาน บวชศาสนทายาท และสืบสานศาสนพิธี ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ชาวไทลื้อให้ความสำคัญต่อการทำบุญให้ทานในโอกาสต่างๆอยู่เสมอ ดังคำโบราณไทลื้อที่กล่าวถึงวิถีการทำบุญว่า“เข้าวันซ้า ผ้าปีผืน ธรรมปีผูก” คือให้หมั่นทำบุญด้วยการนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์วันละ 1 ตระกร้า ถวายผ้าจีวรปีละ 1 ผืน ถวายคัมภีร์ธรรม ซึ่งอาจจารเอง หรือจ้างวานผู้อื่นจารให้ปีละ 1 ผูก เพื่อเป็นการสั่งสมบุญบารมีให้ตนเอง...”

เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง“พระพุทธศาสนาในเมืองสิบสองพันนา” เขียนโดยพระนคร ปรังฤทธิ์ ซึ่งได้ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ”วิถีไทลื้อ เมืองสิบสองพันนา” จัดพิมพ์โดยโครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาประเทศเพื่อนบ้าน สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

ในหนังสือเล่มเดียวกัน ยังมีบทความเรื่อง“เยี่ยมถิ่นไทลื้อ ที่สิบสองพันนา” เขียนโดยอาจารย์ยุพิน เข็มมุกด์ ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งบอกว่า...

“...แม่ญิงไทลื้อได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้าเป็นเลิศ เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า แม้จะมีเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านทางการเมืองมาหลายครั้ง แม่ญิงไทลื้อไปอยู่ที่ไหน ก็จะไม่ละทิ้งเรื่องการทอผ้า เมื่อเข้าไปในวิหารวัดไทลื้อ สิ่งหนึ่งที่น่ามหัศจรรย์มาก คือลวดลายที่วิจิตรงดงาม บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาลงบนผืนผ้า ที่เรียกว่า”ตุง” รวมถึงสิ่งทอที่ถวายเป็นพุทธบูชา แม่ญิงไทลื้อมีความสามารถในการนำเอาภูมิปัญญากับวัฒนธรรมการทอผ้า เรื่องราวทางพุทธศาสนา วรรณกรรม จารีต ประเพณี มาไว้บนผื้นผ้าได้อย่างลงตัวสวยงาม นี่คือผลงานที่บรรพชนไทลื้อได้สร้างสรรค์ขึ้นจนกลายเป็น อัตลักษณ์ที่โดดเด่น...”

ร่วมมือร่วมแรงกันผูกปมฝ้าย

เริ่มทอผ้า
ตั้งแต่จำความได้ ชุมชนที่พรอาศัยอยู่ มีงานจุลกฐินทุกปี ตอนเด็กๆ พรเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่ต้องมาอดหลับอดนอน นั่งหลังขดหลังแข็งทอผ้าย้อมผ้ากันทั้งคืน เมื่อถามพ่อ ก็ได้คำตอบเพียงสั้นๆว่า”เพราะได้บุญมากกว่าการทอดกฐินทั่วไป”

แรกๆเลย งานจุลกฐินทำกันเงียบๆภายในชุมชน ไม่เป็นงานใหญ่โตเอิกเกริก ชาวลื้อในชุมชนทุกคน ต่างรับรู้กันว่าเมื่อผ่านพ้นวันออกพรรษาไปแล้ว แต่ละคนจะมีบทบาท หรือหน้าที่อะไรบ้าง ทุกคนจะเตรียมตัวทำหน้าที่ของตนให้พร้อมก่อนจะถึงวันซึ่งกำหนดให้เป็นวันจุลกฐิน

เมื่อถึงคืนก่อนวันถวายผ้ากฐิน แต่ละบ้านก็จะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดปกติที่สวมใส่ประจำวัน มาสวมใส่ชุดของชาวลื้อ และมาชุมนุมร่วมมือร่วมแรงกันทอผ้าย้อมผ้าอยู่ภายในวัด เพื่อเตรียมผ้ากฐินให้พร้อมในเช้าวันรุ่งขึ้น

สำหรับเด็กๆอย่างพร ภาพความทรงจำของเขาคือความสนุกสนาน ยามเมื่อได้ติดตามพ่อแม่ที่ไปช่วยงานที่วัดในคืนก่อนวันทอดกฐิน เพราะเขามีโอกาสได้วิ่งเล่นซุกซนกับเพื่อนๆในยามค่ำคืน เพราะหากเป็นวันปกติ เมื่อถึงเวลาพลบค่ำ เขาก็ต้องเตรียมตัวเข้านอนแล้ว

วิธีผ่อนคลาย ในค่ำคืนก่อนวันถวายผ้ากฐิน
ในขั้นตอนท้ายๆ ของการเตรียมผ้านกฐิน(ภาพนี้ บันทึกในเวลา 05.00 น. ของวันที 24 พฤศจิกายน 2555)
ต่อมาเมื่อมีคนจากท้องถิ่นอื่นรู้ข่าวเกี่ยวกับประเพณีจุลกฐิน เริ่มมีคนจากภายนอกเดินทางมาร่วมชมงานมากขึ้น บางคนเป็นนักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวดูประเพณีนี้โดยเฉพาะ

จากขั้นตอนภายในงาน ที่มีเพียงกระบวนการตระเตรียมฝ้าย ทอผ้า จึงเริ่มมีกิจกรรมอย่างอื่นเสริมเข้ามามากขึ้น

มีการออกร้าน แสดงศิลปวัฒนธรรมลื้อ เพื่อให้เป็นข้อมูลเกี่ยวกับคนลื้อแก่คนที่มาเที่ยว

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชาวลื้อได้ถูกออกแบบตัดเย็บให้พิถีพิถันมากขึ้น โดยเฉพาะชุดของเด็กๆ

สมัยก่อนที่งานจุลกฐินยังไม่เป็นงานใหญ่แบบทุกวันนี้ เด็กๆในชุมชนไม่ได้ถูกเข้มงวดให้ต้องสวมใส่ชุดชาวลื้อกันทุกคน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เด็กๆมักจะซน เวลาตามพ่อแม่ไปที่วัด ก็มักจับกลุ่มเล่นหัวกันจนเนื้อตัวสกปรกมอมแมม

แต่พองานจุลกฐินได้กลายเป็นงานใหญ่ประจำชุมชน มีคนหลั่งไหลมาเที่ยวชมงาน ทั้งจากในตัวจังหวัดเอง และจากจังหวัดอื่นๆ เด็กๆทุกคนเลยถูกจับแต่งตัวแบบชาวลื้อ ซึ่งดูไม่สะดวกนักที่จะวิ่งเล่นหัว ซุกซนกันตามประสาเด็กๆแบบสมัยก่อน

เมื่องานจุลกฐินของชาวลื้อในเชียงของเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ก็มีบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือองค์กรต่างๆ ทั้งจากส่วนกลาง และภายในจังหวัด แสดงเจตจำนงขอร่วมเป็นเจ้าภาพ

ผ้ากฐิน เมื่อผ่านพ้นกระบวนการทอ ตัดเย็บ และย้อม
เตรียมพร้อมสำหรับพิธีถวายผ้าในตอนเช้า
ความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นกับงานจุลกฐิน ทำให้พรต้องหวนกลับไปนึกถึงคำบอกเล่าของพ่อ และผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนในชุมชนเกี่ยวกับเรื่องตัวตน…ความเป็นคนลื้อ

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสเหล่านั้น หลายสิบปีก่อน ความเป็นคนลื้อในประเทศไทย เคยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้ โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการสร้างรัฐชาติ มีนโยบายชาตินิยม ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงการต่อสู้ทางอุดมการณ์กับลัทธิคอมมิวนิสต์

เนื่องจากคนลื้อที่อยู่ในประเทศไทยเคยมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่สิบสองปันนา ที่ตกเป็นของจีน ทำให้คนในภาครัฐของไทย มักมองคนลื้อด้วยทัศนคติที่คับแคบอย่างหวาดระแวง เพราะเป็นช่วงที่จีนเพิ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์

เจ้าหน้าที่รัฐเกรงว่าชาวลื้อในไทยอาจมีการติดต่อกับเครือญาติที่อยู่ในจีน และรับเอาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มาด้วย

ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่ พรก็ไม่ทราบได้ แต่ที่เขาได้รับคำบอกเล่ามานั้น ชาวลื้อได้เข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลาเกือบ 200 ปี ก่อนที่กระแสความคิดเช่นนี้จะเกิดขึ้นเสียอีก

โอกาสที่คนลื้อในไทย ยุคเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน จะได้ติดต่อกับญาติๆในสิบสองปันนา ก็มีไม่มากนัก หรือหากมีก็น้อยมาก เพราะช่วงห่างของรุ่นทำให้ลืมกันไป หรือแทบจะจำกันไม่ได้ไปแล้ว

ที่สำคัญ แม้จะเป็นคนลื้อ แต่เมื่อได้มาอยู่ในประเทศไทยแล้ว คนลื้อทุกคนต่างยอมรับว่าตนเอง ก็คือคนไทย

เมื่อพรนึกถึงเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ แม้เขาเกิดมาไม่ทันในช่วงที่คนลื้อต้องหลบซ่อนตัวตนอยู่ในสังคมไทย แต่เขาก็พอเข้าใจความรู้สึกของผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้น

มาถึงปัจจุบัน เมื่อบริบทต่างๆเหล่านี้ได้สูญสลายไป ความเป็นคนลื้อกลับถูกปลุกขึ้นมาใหม่ ไม่เฉพาะในชุมชนเล็กๆที่พรเกิดและอาศัยอยู่ แต่เป็นเหมือนกันในทุกๆที่

จากแนวโน้มของคนไทยส่วนหนึ่งที่โหยหาอดีต เริ่มหวนกลับไปค้นหา ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับรากเหง้าของตนเอง ความเป็นคนลื้อ ซึ่งก็คือคนไทเชื้อสายหนึ่ง จึงได้รับสนใจขึ้นมา

หลายปีที่ผ่านมา คนลื้อหลายคนกล้าที่จะแสดงตัวตนออกมาให้คนภายนอกได้เห็น อย่างพากพูมใจในความเป็นลื้อ

ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลส่วนกลาง ทางหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีแนวคิดในการชูเอกลักษณ์ของท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ความเป็นคนลื้อ ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีของคนลื้อ จึงได้รับการสนับสนุน เพราะรายได้จากการท่องเที่ยว สามารถนำเงินเข้ามายังอำเภอ และจังหวัดได้เป็นจำนวนมาก

งานจุลกฐินของชาวลื้อได้ถูกบรรจุไว้เป็น 1 ในปฏิทินท่องเที่ยวของท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
.....

พรนั่งมองดูลูกชายวัย 4 ขวบเศษ ที่กำลังลองชุดลื้อชุดใหม่ที่เพิ่งตัดเย็บเสร็จ

ตั้งแต่ลูกคนนี้เกิดมา เขายังไม่เคยพาลูกไปซึมซับรับรู้ถึงบรรยากาศของงานจุลกฐินเลย เพราะเห็นว่ายังเล็กอยู่

แต่ปีนี้ เขาคิดว่าได้เวลาที่ลูกจะต้องเริ่มเรียนรู้วิถีแห่งตัวตนของตนเองได้แล้ว

พรเดินมาตบหัวลูกชายเบาๆ ก่อนจะพูดกับลูกว่า

“ออกพรรษาแล้ว เย็นวันพรุ่งนี้ไปช่วยพ่อดูแลต้นฝ้ายที่วัดหน่อยนะ เพราะใกล้ถึงงานจุลกฐินแล้ว”