.....“พี่ชอบกินบะหมี่หรือเปล่า”เพื่อนชาวลาวผู้หนึ่งถามผมกลางวงสนทนาในมื้อเย็นวันหนึ่ง
.....“ชอบสิ ทำไมเหรอ”ผมถามตอบ
.....“แล้วชอบบะหมี่ในลาวมั้ย”เขาถามตอบกลับมา
.....“ชอบ น้ำซุปก็อร่อย แล้วเส้นก็แปลก
ไม่เหมือนเส้นบะหมี่ในไทย”
.....“ยังไงล่ะ”
.....“ก็บะหมี่ในลาว เส้นจะกลมใหญ่ คล้ายเส้นหมี่ซั่วหรือหมี่เตี๊ยว
เส้นไม่เป็นเหลี่ยมเล็ก หรือแบนๆเหมือนในไทย”ผมอธิบาย
.....“แต่ร้านที่ขายบะหมี่แบบนั้น ในลาวก็มีหลายที่นะ”
.....“ใช่ ผมเคยไปกินมาแล้ว แต่ถ้าเข้ามาในลาวแล้ว
ผมเลือกกินบะหมี่แบบลาวดีกว่า”ผมรีบสรุป
เฝอ อาหารที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในลาว |
เรื่องของกินในลาว เป็นเรื่องที่มีแง่มุมให้พูดถึงได้หลากหลายครับ
เพราะแม้ว่าในลาวจะมีอาหารหลากหลายประเภท
แต่คนที่เข้าไปในลาวส่วนใหญ่มักนิยมกิน”เฝอ” ซึ่งก็คือก๋วยเตี๋ยวดีๆนี่เอง
จนบางคนเข้าใจไปว่าคนลาวชอบกินแต่เฝออย่างเดียว
ร้านขายเฝอ บะหมี่เกี๊ยว และอาหารอื่นๆ ซึ่งขายในรอบดึกของเวียงจันทน์ |
ขณะที่บะหมี่ก็เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่หากินได้ง่าย มีหลายประเภท
ทั้งหมี่เกี๊ยว หมี่เป็ด หมี่หมูแดง หมี่แห้งหรือหมี่น้ำ
แต่อย่างที่ผมได้คุยกับเพื่อนข้างต้น เส้นบะหมี่ในลาวจะมีความแตกต่างกับของไทย
แต่ก็เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่รสชาติอร่อย ใช้ได้ทีเดียว
เส้นบะหมี่ในลาว เป็นเส้นกลม ใหญ่ ส่วนแป้งเกี๋ยวก็จะหนากว่า |
แล้วความที่ลาวเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นในลาว
โดยเฉพาะในนครหลวงเวียงจันทน์จึงมีร้านอาหารของชนชาติต่างๆ
กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก
ทั้งอาหารฝรั่ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น แม้แต่ร้านข้าวแกง
ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง-หมูกรอบแบบไทยๆ ก็มีให้เลือก
ว่าถึงเรื่องร้านอาหารญี่ปุ่น เพื่อนคนเดิมของผมยังไม่ยอมหยุดซักเรื่องของบะหมี่
.....“ระหว่างราเมง กับอูด้ง พี่ชอบอะไรมากกว่ากัน”
.....“อันนี้ผมเฉยๆ ถ้ามีก็กินได้ แต่ถ้าให้เลือก
ผมชอบอาหารแบบไทยๆ หรือแซ่บๆแบบลาวๆดีกว่า”ผมพยายามสรุปอีกครั้ง
.....“แต่ผมมีเรื่องขำๆเกี่ยวกับราเมงกับอูด้งมาเล่าให้ฟัง”เขายังไม่ยอมเปลี่ยนเรื่อง
.....“เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆด้วยนะ”เขาย้ำ
ด้วยความที่เพื่อนคนนี้ทำธุรกิจอยู่ในลาว
ธุรกิจของเขามีคู่ค้าที่เป็นบริษัทจากญี่ปุ่นหลายบริษัท
และตัวของเขาเองก็เดินทางไปญี่ปุ่นบ่อยครั้ง
และก็มีหลายครั้ง ที่เขาต้องคอยรับรองตัวแทนของบริษัทคู่ค้าที่ต้องเดินทางมาดูงาน
หรือเจรจาธุรกิจกันในลาว
.....“อาทิตย์ก่อน ตัวแทนพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นของผม 3 คนมาเวียงจันทน์
ผมต้องไปคอยรับรอง แล้ว 3
คนนี้ก็เพิ่งมาลาวเป็นครั้งแรก ลงจากเครื่องบินมา ก็จะพาเขาไปกินข้าวเที่ยง
ผมถามว่าอยากกินอะไร เขาก็บอกว่าจะกินราเมง ก็พาไป”เขาเริ่มเล่า
.....“คุยธุระกันเสร็จจะพาไปกินข้าวเย็น ก็ถามอีกจะกินอะไร
เขาบอกจะกินราเมงอีก ก็พาไปอีกร้านหนึ่ง”
.....“รุ่งเช้าเขากินอาหารเช้าที่โรงแรม
ผมไปรับเขาเพื่อพาไปที่โรงงานจนถึงเที่ยง จะพาไปกินข้าว ถามเขาว่าจะกินอะไร
เขาก็ยังบอกว่าจะกินราเมงอีก ผมเลยพากลับไปกินร้านแรก”
.....“สรุป ตั้งแต่กลุ่มนี้มา ผมกินราเมงติดๆกันไปแล้ว 3 มื้อ เพราะเขากินอะไร
ผมก็ต้องกินด้วย แล้วแกก็ไม่ยอมเปลี่ยนด้วย”
.....“ตกเย็นหลังจากดูงานเสร็จ ผมคิดในใจว่าถ้าเขายังจะกินราเมงอีก
แล้วผมจะทำยังไง ก็เลยถามเขาว่าเย็นนี้จะกินอะไร แล้วก็จริงๆด้วย เขาตอบว่าราเมง”
.....”ผมเลยบอกว่าทำไมไม่ลองอูด้งบ้างล่ะ
ในลาวก็มีร้านอูด้งอร่อยนะ เขาสนใจ ตอบตกลง”
.....“ผมก็พาไปเลย ไปกินอูด้งลาว โอ้โห..ปรากฏว่าชอบกันใหญ่
ยกนิ้ว บอกอูด้งลาวอร่อย สั่งกินกันคนละ 2 ถ้วย”
.........
เดาได้ไหมครับว่าเพื่อนของผมคนนี้พาคู้ค้าจากญี่ปุ่นไปกินอูด้งที่ไหน
?
.....“ก็แม่นข้าวเปียกบ้านเฮาล่ะเด้อ”
“อูด้ง”ลาวในความเข้าใจของตัวแทนคู่ค้าของเพื่อนของผม
ก็คือข้าวเปียกนั่นเองครับ !!!
ข้าวเปียก
หรือต้มเส้น หรือในชื่อเรียกที่เราคุ้นเคยกัน
ก็คือ”ก๋วยจั๊บญวน”
ข้าวเปียกเป็นอาหารที่คนลาวนิยมกินกันมากอีกอย่างหนึ่งนอกจากเฝอ
ข้าวเปียกในเวียงจันทน์ |
ทั่วประเทศลาว
ทุกบ้าน ทุกเมือง ของทุกแขวง จะมีร้านขายข้าวเปียก แต่ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยขึ้นป้ายไว้ที่หน้าร้าน
ซึ่งไม่เหมือนกับร้านขายเฝอ หากใครอยากกินข้าวเปียก ต้องถาม หรือดูจากรายการอาหารของร้านเอาเอง
ขณะเดียวกัน
ในร้านที่ขายเฝอเอง ส่วนใหญ่จะมีเมนูข้าวเปียกอยู่ด้วยเสมอ แต่อาจจะไม่ทุกร้าน
รายการอาหาร จะเห็นข้าวเปียกอยู่ในรายการที่ 7 |
ข้าวเปียกสามารถกินได้ทั้งมื้อเช้า
มื้อกลางวัน มื้อเย็น หรือแม้แต่มื้อดึก
แต่ด้วยวิถีของคนลาวที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ
ร้านที่ขายข้าวเปียกตอนกลางคืนจะมีเฉพาะแต่ในเมืองใหญ่ๆที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปมาก เช่น เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ปากเซฯลฯ
ส่วนแขวงอื่นๆที่คนส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตแบบสมถะ นิยมกินข้าวเย็นรวมกันในบ้าน ร้านข้าวเปียกจึงมักขายกันตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายแก่ๆก็เริ่มปิดร้านกันแล้ว
ราคาข้าวเปียกจะถูกว่าราคาเฝอ เช่นถ้าราคาเฝออยู่ที่ถ้วยละ 15,000 กีบ ราคาข้าวเปียกจะตกประมาณถ้วยละ
8,000 กีบ
เส้นดิบของข้าวเปียก |
เส้นดิบของเฝอ |
เส้นข้าวเปียกทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียวอีกนิดหน่อย
ดังนั้นเส้นจึงมีความเหนียวแน่น กลม และใหญ่ ต่างจากเส้นเฝอ
ความรู้สึกเมื่อเคี้ยวเส้นข้าวเปียกจะคล้ายๆกับการเคี้ยวเส้นอูด้งของญี่ปุ่น
เพราะฉนั้นจึงมีสูตรการทำข้าวเปียกบางสูตรในไทย ที่แนะนำว่าหากหาซื้อเส้นข้าวเปียกดิบไม่ได้
ให้ใช้เส้นอูด้งแทน
ข้าวเปียกมักกินกับหมู ทั้งหมูสับ หมูชิ้น ซี่โครงหมู
หรือแม้แต่ลูกชิ้นหมู แต่เราก็สามารถสั่งเป็นข้าวเปียกไก่ หรือเนื้อก็ได้
จุดเด่นอย่างหนึ่งของข้าวเปียกก็คือน้ำซุป
ซึ่งส่วนใหญ่ใช้น้ำต้มกระดูกหมู
ด้วยกระบวนการทำข้าวเปียกที่ต้องต้มน้ำซุปให้เดือดอีกครั้ง ระหว่างปรุงรสและลวกเส้น
ดังนั้นข้าวเปียกแต่ละถ้วย น้ำซุปจะร้อนและมีรสชาติที่เข้มข้น
ข้าวเปียกที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน |
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมชอบรสชาติน้ำซุปข้าวเปียกของแขวงทางใต้ของลาว
ตั้งแต่คำม่วนลงมามากกว่ารสชาติของร้านข้าวเปียกที่อยู่ในเวียงจันทน์หรือแขวงทางเหนือขึ้นไป
ผมรู้สึกว่าซุปข้าวเปียกของแขวงทางใต้มีความเข้มข้นจัดจ้านมากกว่า
จนบางครั้งไม่ต้องปรุงเลย ขณะที่ซุปข้าวเปียกของร้านที่ขายในเวียงจันทน์หรือเมืองทางเหนือขึ้นไป
ค่อนข้างจืด ต้องอาศัยเครื่องปรุงช่วย
อีกอย่างหนึ่งที่คอข้าวเปียกหรือก๋วยจั๊บญวนรู้กันดีก็คือหอมเจียว ร้านข้าวเปียกในเวียงจันทน์มักไม่โรยหอมเจียวไว้บนหน้าน้ำซุป ทำให้หน้าตาดูจืดๆ
แต่หากเป็นร้านข้าวเปียกทางแขวงภาคใต้ พบว่าแทบทุกร้านจะโรยหอมเจียวเอาไว้
และยังสามารถขอเพิ่มได้หากต้องการ
ร้านข้าวเปียกในแขวงสะหวันนะเขตร้านหนึ่ง
เขาเจียวหอมใส่เอาไว้ในถังเล็กๆเพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินไปตักเติมเองได้เลย
ผิดกับร้านก๋วยจั๊บญวนชื่อดังบางแห่งในไทย
ที่หากจะขอหอมเจียวเพิ่ม เขาจะคิดเงินเพิ่มอีกถ้วยละ 5-10 บาท
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ที่ภาคใดของลาว
และไม่ว่าจะเป็นร้านขายเฝอหรือร้านขายข้าวเปียก สิ่งที่ร้านอาหารของลาวมีเหมือนกันหมดทุกร้าน
ก็คือผักที่แถมมาให้กินแกล้มกับเฝอหรือข้าวเปียกแต่ละถ้วย ซึ่งจะมีเป็นจำนวนมาก
และมีผักพื้นบ้านหลากหลายประเภท
เรียกว่าอาหารของคนลาวนั้น ไม่หวงผักกันเลยล่ะครับ....