เธอเป็นคนตัวเล็ก เมื่อสวมปีกแต่งชุดกิ่งกะหร่า เดินอยู่ในขบวนแห่จองพารา คนมักเข้าใจว่าเธอเป็นเด็กนักเรียน ที่โรงเรียนส่งมาร่วมแสดงในเทศกาลปอยเหลินสิบเอ็ด
เมื่อได้เห็นลีลา ท่วงท่าการรำกิ่งกะหร่าของเธอ ทุกคนล้วนตื่นตา สนใจว่าเด็กนักเรียนตัวเล็กๆผู้นี้
ใยร่ายรำได้คล่องแคล่วเหลือเกิน
เธอมีจิตวิญญานในการแสดงสูงมาก ทุกครั้งที่เสียงดนตรีดังขึ้น
ทุกสัดส่วนในร่างกายของเธอต้องขยับ ร่ายรำรับกับจังหวะกลอง ฆ้อง ฉาบ
ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย
ด้วยสีหน้าและท่วงท่ารำของเธอ คนที่ร่วมเดินในขบวน
คนที่ยืนชมอยู่รอบนอก พลอยสนุกสนานจนอดไม่ได้ หลายคนแอบขยับมือ ขยับเท้า ออกจังหวะไปพร้อมกับเธอ
ท่วงท่าและลีลาการรำกิ่งกะหร่าที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ไม่น้อย
เมื่อมีโอกาสได้สนทนาด้วย จึงรู้ว่าเธอไม่ใช่เด็กนักเรียนอย่างที่หลายคนเข้าใจ...
“ยุ้ย”เสาวณีย์ สุขิตตาธิกุล อายุ 23 ปี
กำลังเรียนอยู่คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกแนะแนว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เธอสูงเพียง 140 เซ็นติเมตร
ยุ้ยเป็นคนไทย เชื้อสายไทใหญ่ เป็นชาวแม่ฮ่องสอนโดยกำเนิด
|
ความสนุกสนานของคนรอบข้าง
เมื่อได้เห็นท่วงท่าการร่ายรำกิ่งกะหร่าที่ไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย
|
ครอบครัวของยุ้ยย้ายจากเมืองนาย รัฐฉาน มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านในสอย
ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน โดยย่าและพ่อของเธอย้ายเข้ามาก่อน
ส่วนแม่ของเธอย้ายตามมาเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว
เมืองนายอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน
ห่างจากแม่ฮ่องสอนประมาณ
170 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์
เพระเป็นปลายทางของเส้นทางการค้าและการเดินทัพ ระหว่างเชียงใหม่และหัวเมืองไทใหญ่ในอดีต
|
“ยุ้ย” เสาวณีย์ สุขิตาธิกุล ในวันที่ได้สนทนากับผู้เขียน
|
ยุ้ยและพี่สาวอีก 2 คน เกิดในประเทศไทย
เธอเริ่มฝึกรำกิ่งกะหร่าตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 โรงเรียนบ้านในสอย ขณะที่มีอายุ
14 ปี
แต่เป็นการเรียนรู้จากผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่เธอนับถือเป็นลุง
ไม่ได้เรียนจากในโรงเรียน
“สอนกันแบบบ้านๆ ลุงจะรำให้ดูก่อน จากนั้นค่อยสอนการวางเท้า
วางมือ ท่ารำแต่ละท่า จากรำมือเปล่า ต่อมาก็รำโดยใส่ปีก”เธอเล่า
การสอนแบบนี้มีอยู่ทั่วไปตามชุมชนไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เป็นการถ่ายองค์ความรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมไต เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านั้นได้รับการสืบทอดต่อเนื่อง
จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นถัดไป
ลุงผู้สอนเห็นว่ายุ้ยเป็นคนตัวเล็ก
จึงแนะนำให้เธอฝึกรำกิ่งกะหร่า
ให้เหตุผลว่าจะทำให้เธอมีโอกาสรำได้หลายปีกว่าเพื่อนคนอื่นๆที่อยู่ในรุ่นเดียวกัน
ซึ่งก็เป็นจริง...
จากเริ่มต้นที่ใช้เวลาวันละ 1-2 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน ไปฝึกรำกิ่งกะหร่าที่บ้านของลุง
เมื่อเริ่มชำนาญ ยุ้ยได้ออกแสดงในนามของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านในสอย และสามารถทำได้ดี
ความรักและผูกพันธ์ต่อศิลปะ ที่บ่งบอกตัวตนความเป็นไทใหญ่ของเธอ
จึงถูกบ่มเพาะขึ้น
ถึงปัจจุบัน ยุ้ยเป็นนางรำกิ่งกะหร่าของบ้านในสอยมาแล้วถึง 10 ปีเต็ม ทุกครั้งที่เธอได้มีโอกาสร่ายรำกิ่งกะหร่า
เป็นช่วงเวลาที่เธอมีความสุข
“ถ้าได้ยินเสียงดนตรีขึ้น
จะรำไม่หยุด เป็นอย่างนั้นทุกปี บางปีคนที่รำด้วยเขาจะไม่ชอบ เพราะเขาเหนื่อย ครั้งหนึ่งเคยรำคู่กับเด็ก
น้องเขาบอกเลยว่าพี่พอเถอะ น้องเหนื่อยแล้ว”
ในฐานะนางรำกิ่งกะหร่าของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านในสอย หลายปีมาแล้ว
ที่ยุ้ยมีงานใหญ่ซึ่งเธอต้องไปรำเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
คือเทศกาลออกพรรษา กับลอยกระทง
แต่หากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีกำหนดการต้องนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่
ให้กับบุคคลภายนอก เธอมักถูกเรียกใช้ให้ไปแสดงการรำกิ่งกะหร่า โดยเธอเคยไปรำโชว์มาแล้วทั้งในกรุงเทพ
และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ
|
คนที่ได้ไปชมขบวนแห่จองพาราที่แม่ฮ่องสอนทุกปี
ต้องคุ้นหน้าคุ้นตาเธอ หลายคนแอบบันทึกภาพของเธอไว้ ตัวอย่างเช่น 2 ภาพข้างต้น
ชาวญี่ปุ่นที่ได้ไปเที่ยวชมถ่ายภาพเธอขณะที่กำลังรำในขบวน โดยภาพซ้ายถ่ายในปี 2552 ส่วนภาพขวาถ่ายในปี
2553 จากนั้นได้นำภาพไปใส่กรอบ
แล้วนำกลับมาให้เธอระหว่างที่กำลังรำอยู่ในขบวนแห่จองพาราปี 2554
|
“กิ่งกะหร่าเป็นการแสดงขั้นสูง
ต้องแสดงในงานที่เป็นมงคลเท่านั้น งานศพก็ห้าม”เธอบอกถึงกฏแห่งความศรัทธาในสิ่งที่เธอแสดง
“กิ่งกะหร่าจะมีท่ารำหลักๆ ซึ่งเป็นท่าพื้นฐาน จากนั้นผู้รำแต่ละคนสามารถสร้างสรรค์ท่าของตนเองได้
แต่ต้องยึดหลักที่ว่ากิ่งกะหร่าคือการเคลื่อนไหวเลียนแบบนก ผู้รำต้องจินตนาการว่าตนเองเป็นนกไม่ใช่เป็นคน
ท่ารำแต่ละท่าจึงเป็นการแสดงออกของนกไม่ใช่คน”เธออธิบาย พร้อมเสริมว่า
“ในแม่ฮ่องสอน แม้นท่ารำพื้นฐานจะคล้ายกัน
แต่ว่าแต่ละชุมชนจะมีเอกลักษณ์ในการรำแตกต่างกัน บ้านในสอยรำอย่างหนึ่ง
ที่แม่สะเรียง ที่ขุนยวม ก็จะมีท่ารำอีกอย่างหนึ่ง”
เธอให้เหตุผลว่า เนื่องจากผู้ที่ถ่ายทอดการรำของแต่ละชุมชน
เป็นคนละคนกัน
”แต่ละที่ก็มีครูของเขาเอง”
จากลูกศิษย์ที่เรียนและฝึกฝนการรำกิ่งกะหร่ากับลุงที่เป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน
วันนี้ยุ้ยได้ก้าวขึ้นการเป็นครูสอนการรำกิ่งกะหร่าให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านในสอย
และอีกหลายโรงเรียนที่ขอให้เธอไปช่วยสอน
ลูกศิษย์ของเธอเป็นเด็กนักเรียน
ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมปีที่ 5
“ลูกศิษย์กับครูตัวสูงเท่ากันเลย”เธอเล่าแบบมีอารมณ์ขัน
|
เด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านสบป่อง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกศิษย์ของยุ้ย |
นอกจากนี้ ในระดับตำบล เมื่อมีการจัดประกวดการรำกิ่งกะหร่าในระดับเยาวชน
เธอก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการตัดสิน
การสอนในระดับอนุบาล แม้จะเป็นงานที่เหนื่อย
เพราะเด็กเล็กขนาดนี้ อาจยังไมค่อยรู้เรื่องอะไรมาก แต่เธอมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้ปลูกฝังวัฒนธรรม
ความเป็นไทใหญ่ให้แก่คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ยังเล็กๆ
“คนไทใหญ่เน้นมากเรื่องวัฒนธรรม”เธอตัวอย่างว่า“เวลาไปหาย่า
ถ้าใส่กางเกงขาสั้นไปจะโดนว่า โดนดุ ต้องใส่ผ้าถุง
แล้วผ้าถุงที่ใส่ก็ต้องถูกหลักด้วยว่าต้องห่มคลุมลงไปถึงตาตุ่ม”
ในวันพระ หรือยามเทศกาลที่เธอว่างเว้นจากงานรำกิ่งกะหร่า
เธอมักจะแต่งชุดไทใหญ่เพื่อไปทำบุญที่วัด ซึ่งเธอบอกว่าเมื่อได้มีโอกาสแต่งชุดไทใหญ่
ทำให้เธอมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ตัวตนของเธอ
“ชุดไทใหญ่ ถ้าคนไทใหญ่ไม่ใส่ แล้วจะให้ใครใส่”เธอกล่าวทิ้งท้าย
แม้นร่างกายเธอจะเล็ก แต่ภารกิจของเธอ “ยุ้ย”เสาวณีย์
สุขิตตาธิกุล มิได้เล็กตามไปด้วย...
|
ความโดดเด่นในตัวของเธอ มิได้มีแต่เพียงการรำกิ่งกะหร่าเท่านั้น
ทุกวันนี้ ยุ้ยยังเป็นนักกีฬาเปตองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ไปแข่งขันในนามของจังหวัด
และนำเหรียญรางวัลมาสู่จังหวัดแล้วหลายเหรียญด้วยกัน
|
|
เธอบอกว่าเธอตั้งใจเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกแนะแนว
เพราะต้องการทำงานช่วยเหลือชุมชน บ่อยครั้งที่เธอรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้วจากคนรู้จัก แอบติดไปรถขนส่งเสบียงอาหารของสหประชาชาติที่ขึ้นไปยังค่ายผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อนำเสื้อผ้าที่รวบรวมได้ไปบริจาคให้กับผู้อพยพเหล่านั้นด้วยตัวเอง
ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้อยู่ตรงตะเข็บชายแดน ห่างจากบ้านของเธอไปประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ลำบากและเสี่ยง
ในภาพเป็นอีกบุคลิกหนึ่งของเธอในเครื่องแบบอาสาสมัตรตำรวจบ้าน
|