“เกิดเป็นคนไต หมู่เฮาต้องฮักจาดไต บ่หื้ใผ นั้นมายั่มยีข่มขี่
จาดไตเฮานี้ ต่างคนต่างมีศักดิ์สี
บ่หื้อใผยั่มยี ประเพณีไตเฮา
น้ำหนึ่งใจเดียว ฮ่วมกันเป็นเกี๋ยว ตวยกันเป็นหมู่
วัฒนธรรมเฮายังอยู่ อยู่กู่กับจาดเจี้ยไตเฮา
หมู่เฮายึดมั้น ในความสามัคคี บ่หื้อใผมาควี ประเพณีไตเฮา
ความกล้าหาญ นั้นอยู่ในจิต เฮาบ่ได้คิด
สร้างความฮ้ายเสิ่มเสีย คิดสร้างแต่ความดี จะหื้อมีจื่อเสียงดังก้อง
(ซ้ำ)
คิดสร้างแต่ความดี จะหื้อมีจื่อเสียงดังก้อง...โลก”
เนื้อหาข้างต้น เป็นเนื้อร้องของเพลง“ไตสามัคคี” ซึ่งคัดลอกมาจากเอกสารที่แจกให้กับผู้ที่เดินทางไปร่วมงานบุญชาติ
และงานปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม ที่จัดขึ้นบริเวณสนามกีฬา
โรงเรียนบ้านห้วยส้าน ในช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา(2557) เพื่อให้ผู้ร่วมงานทุกคน สามารถร้องเพลงนี้ได้อย่างพร้อมเพรียงกัน
ก่อนที่พิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการจะเริ่มต้นในเวลาประมาณ 9.00 น.
ชาวห้วยส้าน ร่วมร้องเพลง"ไตสามัคคี" ก่อนงานบุญชาติจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ
ในความรู้สึกของคนในชุมชนบ้านห้วยส้าน เพลง“ไตสามัคคี”ถือเป็นเพลงประจำกลุ่มชาติพันธุ์
หรืออีกนัยหนึ่ง เป็น”เพลงชาติ”ของพวกเขานั่นเอง!!!
ชาวบ้านห้วยส้านเป็นคนไท...บรรพบุรุษของพวกเขามีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ในดินแดนล้านนา
จากเมืองเชียงใหม่ ลำพูน เถิน แพร่ ฯลฯ มาก่อน
แล้วทำไมเขาจึงต้องมีเพลงชาติ
ที่มีเนื้อหาแตกต่างจากเพลงชาติไทยของเราในปัจจุบัน???
คำตอบคือ...“บ้านห้วยส้าน”อยู่ในจังหวัดเมียวดี
รัฐกะเหรี่ยง
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา(พม่า)
ดังนั้น ชาวบ้านห้วยส้านจึงถือเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อย ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน ซึ่งถูกความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่กำหนดให้เป็นเขตแดนของประเทศพม่า
การจะมีเพลงประจำกลุ่มชาติพันธุ์
ที่เป็นเพลงเดียวกับเพลงชาติของอีกประเทศ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน…จึงเป็นเรื่องที่ดูกระไรอยู่
ผู้อาวุโสของบ้านห้วยส้าน คอยต้อนรับแขกที่มาร่วมงานบุญชาติ หน้าประตูทางเข้าโรงเรียน |
ชาวห้วยส้าน
เรียกตนเองว่าเป็นชาวไทโยน เพื่อบ่งบอกถึงที่มา ว่าเป็นคนที่มีพื้นเพจากดินแดนโยนก
หรือล้านนา
วันที่
7 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งชาวไทใหญ่ในรัฐฉานถือเป็น“วันชาติ”ของพวกเขา
ชาวไทโยนบ้านห้วยส้าน ได้กำหนดให้วันเดียวกัน เป็น“วันแห่งชาติ”ของชาวไทด้วย
ชาวบ้านห้วยส้านพร้อมใจกันจัดงานบุญชาติ
งานปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม และพิธีทำบุญสืบชะตาชาติขึ้น โดยงานที่มีขึ้นเมื่อวันที่
7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13
ชาวไทโยนจากบ้านต่างๆ มาร่วมตัวกันในงานบุญชาติ บ้านห้วยส้าน |
บรรยากาศงานบุญชาติ ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน |
บ้านห้วยส้านเป็นชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว
ก่อนที่ผืนแผ่นดินซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดเมียวดีปัจจุบัน จะถูกกำหนดให้เป็นอาณาเขตของประเทศพม่าเสียอีก
200 ปีก่อน เป็นช่วงที่อังกฤษเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าไปในพม่า โดยหวังช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ
เป้าหมายสำคัญที่อังกฤษต้องการจากพม่ามากที่สุดคือไม้
อังกฤษทำสงครามครั้งแรกกับพม่าเมื่อ พ.ศ.2369 และเป็นฝ่ายชนะสงคราม
ได้หัวเมืองมอญของพม่าซึ่งมีอาณาเขตติดกับดินแดนล้านนามาครอบครอง
หลังสงครามครั้งแรกสิ้นสุดได้ไม่นาน ในเมืองมอญเกิดโรคระบาด
ทำให้โค กระบือล้มตายเป็นจำนวนมาก ข้าหลวงอังกฤษที่อยู่ในเมืองมะละแหม่ง จึงส่งตัวแทนมาติดต่อกับล้านนา
เพื่อเจรจาขอซื้อช้าง โค กระบือจากราษฎรในเมืองเชียงใหม่
ถือเป็นการเริ่มต้นการค้าขายระหว่างอังกฤษและล้านนาโดยตรง
ไม่ผ่านกรุงเทพฯ
เส้นทางการค้าระหว่างล้านนากับอังกฤษในตอนนั้น คือการล่องตามแม่น้ำปิง
จากเชียงใหม่ลงมายังตาก ตัดเข้าแม่สอด เมียวดี ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี
ไปยังเมืองมะละแหม่ง
พรมแดนระหว่างเมืองมอญของอังกฤษกับล้านนาตามเส้นทางเศรษฐกิจสายนี้
ใช้สันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งอยู่เลยผืนแผ่นดินที่เป็นเมืองเมียวดีปัจจุบันไปทางทิศตะวันตก
ประมาณ 30 กว่ากิโลเมตร เป็นเส้นแบ่งเขตแดน
การเปิดการค้าระหว่างล้านนากับอังกฤษ ประกอบกับการที่อังกฤษกำลังขยายกิจการป่าไม้ในเขตปกครองของตนเองในพม่า
ทำให้มีชาวล้านนาหลายคนมองเห็นเป็นโอกาส มีผู้คนจำนวนหนึ่งอพยพโยกย้ายจากเมืองต่างๆในล้านนา
มาตั้งรกรากยังดินแดนที่เป็นเสมือนหน้าด่านระหว่างล้านนากับเมืองมอญของอังกฤษ บนฝั่งตะวันตก
ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเมย ไปประมาณ 18.5 กิโลเมตร เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ
เด็กซึ่งฝึกฝนการแสดงมาจากวัดต่างๆ กำลังเตรียมตัวขึ้นเวที |
หนานเอ๊ก มัคทายกวัดศรีบุญเรือง
ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดงานบุญชาติ และปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม บ้านห้วยส้าน
ในปีนี้ เล่าในสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษอีกต่อหนึ่งว่า 200 กว่าปีที่แล้ว
ผืนดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านห้วยส้าน มีสภาพเป็นป่ารกชัฏ
ผู้คนที่ย้ายเข้ามาได้ช่วยกันแผ้วถาง สร้างเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นมา สร้างวัดประจำชุมชน
จากนั้นก็ได้ลงหลักปักฐาน และอยู่กันอย่างถาวร ไม่ได้กลับไปยังถิ่นฐานเดิมอีก
บ้านห้วยส้านดำรงอยู่ต่อเนื่องมา จนเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
ได้มีการแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่ากันใหม่ มีการเปลี่ยนแนวเส้นแบ่งเขตจากเดิมที่ใช้สันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรี
มาเป็นแม่น้ำเมย
ทำให้ผืนแผ่นดินบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านห้วยส้าน
ได้ตกไปอยู่ในเขตของพม่า ชาวบ้านห้วยส้าน ซึ่งเป็นคนไทจากล้านนาที่ได้ตั้งรกรากอยู่อย่างถาวรไปแล้ว
จึงกลายเป็นคนไทที่ตกหล่นอยู่ในดินแดนที่มิใช่เขตประเทศเดิมของตนไปโดยปริยาย
ปัจจุบันหนานเอ๊กอายุ 60 ปี เป็นชาวบ้านห้วยส้านรุ่นที่ 4 รุ่นแรกที่มาบุกเบิกสร้างบ้านห้วยส้าน เมื่อ 200 กว่าปีก่อน
เป็นทวดของเขา
เช่นเดียวกับชาวบ้านห้วยส้านคนอื่นๆ หนานเอ๊กไม่มีนามสกุล
จึงมิอาจสืบสาวต่อไปถึงเครือญาติที่ยังคงอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันได้(พระราชบัญญัตินามสกุล
เพิ่งประกาศใช้ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2456)
คณะแมงโตเมี๊ยะ จากบ้านผาซอง |
จากบ้านห้วยส้านที่เป็นชุมชนแห่งแรก
คนไทโยนที่อพยพมาจากล้านนาซึ่งอยู่ในจังหวัดเมียวดี ได้แพร่ขยายจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจุบัน มีจำนวนคนไทโยนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้อยู่ประมาณ 2 หมื่นคน
กระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ 7 หมู่บ้านด้วยกัน ประกอบด้วย บ้านห้วยส้าน
บ้านแม่แปป บ้านปากกาน บ้านห้องห้า บ้านแม่กานใน บ้านผาซอง บ้านไร่ รวมถึงมีคนไทอีกส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเมียวดี
ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่าเมือง”บะล้ำบะตี๋”
มีวัดซึ่งเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชุมชนชาวไท 5 วัดด้วยกัน
ประกอบด้วย วัดบัวสถาน วัดสว่างอารมย์ วัดสุวรรณคีรี วัดป่าเรไร และวัดศรีบุญเรือง
หนานเอ๊กบอกเล่าความเป็นมาของบ้านห้วยส้าน
แม้ว่าได้กลายเป็นคนสัญชาติพม่าไปแล้ว
แต่คนในบ้านห้วยส้าน รวมถึงคนไทที่กระจายออกไปอยู่ตามหมู่บ้านอื่นๆ ยังสำนึกตนเองโดยตลอดว่าเป็นคนไท
ทุกคนพยายามปลูกฝั่งอัตลักษณ์ของความเป็นไทให้สืบเนื่องมาตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงรุ่นลูก
รุ่นหลาน รุ่นเหลน และรุ่นลูกหลานของเหลนในปัจจุบัน
ชาวไทโยนบ้านห้วยส้าน
และอีก 6 หมู่บ้านที่เหลือ ใช้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการ ขณะเดียวกัน ทุกคนก็สามารถพูด
อ่าน เขียน ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว
แต่ภาษาและสำเนียงการพูดเป็นภาษาเมือง
เหมือนคนเมืองที่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย
แต่ละหมู่บ้าน
มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน โดยเด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียน ต้องเรียนเป็นภาษาพม่า
ตามหลักสูตรการศึกษาของพม่า แต่ในเวลาว่างเว้นจากการเรียนประจำ
เด็กๆทุกคนจะได้ฝึกฝนการพูด อ่าน เขียนภาษาไท ตลอดจนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประเพณี
และวัฒนธรรมไท จากในวัด
ตัวอักษร
และภาษาเขียนของพวกเขา เป็นตัวอักษรไทยภาคกลาง ที่ใช้กันอยู่ในทั่วประเทศไทยทุกวันนี้
เด็กน้อยชาวไทโยน |
อย่างไรก็ตาม เวลาที่ล่วงเลยมากว่า 200 ปี ทำให้คนไทโยนเริ่มมีการผสมผสานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในพื้นที่มากขึ้น
คนเฒ่า คนแก่ในชุมชนชาวไท เริ่มตระหนักแล้วว่า
หากปล่อยให้เวลาผ่านไป ความเป็นคนไท อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาติพันธุ์อาจสูญหาย
เพราะสภาพสังคมเริ่มเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ตามแนวทางทุนนิยม
การจัดงานบุญชาติ ปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม
จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสืบทอดอัตลักษณ์ของความเป็นไท
ของชุมชนไทโยนให้คงอยู่สืบต่อไปถึงในวันข้างหน้า
หนานเอ๊กอธิบายวัตถุประสงค์ของการจัดงานบุญชาติ
คำกล่าวเปิดงานบุญชาติโดยหนานเอ๊ก
ภายในงาน นอกจากการกล่าวเปิดงานโดยหนานเอ๊ก
เพื่อกระตุ้นให้คนที่มาร่วมงานตระหนักถึงความเป็นคนไท
ที่ต้องดำรงอยู่ซึ่งอัตลักษณ์ ประเพณี และวัฒนธรรมไทแล้ว ยังมีการฟังศีล ฟังธรรม
พระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์สืบชะตาชาติ การแสดงของเด็กนักเรียนจากวัดต่างๆถึงวัฒนธรรมไท
ตลอดจนมีการละเล่นตามประเพณีดั้งเดิมของคนไท เช่น การแสดงแมงโตเมี๊ยะ ที่คล้ายกับการเชิดสิงโตของจีน
แต่เป็นการเชิดร่วมกับการรำดาบไท
การแสดงแมงโตเมี๊ยะของเด็กๆจากบ้านผาซองในงานบุญชาติ
มีการแข่งขันไต่เสาน้ำมัน
ซึ่งผู้ร่วมแข่งขันจะต้องไต่เสาไม้ไผ่ที่ชโลมน้ำมันหมูไว้ทั่วลำไม้
เพื่อขึ้นไปชิงกับเงินรางวัลที่ผูกเอาไว้ที่ปลายยอด
การไต่เสาน้ำมันนี้ แบ่งการแข่งขันออกเป็นเสาสำหรับผู้ใหญ่
และเสาสำหรับเด็ก
การแข่งขันไต่เสาน้ำมัน ของเด็กๆบ้านห้วยส้าน
ช่วงกลางวัน คนที่มาร่วมงานต่างจับกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน
ซึ่งเมนูอาหาร ล้วนเป็นอาหารล้านนา ประกอบด้วย ข้าวนึ่ง ถั่วเน่า แกงแค ยำขนุน
ปลาทอด ต้มไก่ฯลฯ
มีน้ำขาว เป็นเครื่องดื่มหลัก
ร่วมวงกันกินข้าวกลางวัน |
รายการอาหาร ซึ่งเป็นอาหารเมือง |
งานจะเริ่มซาตอนบ่ายแก่ๆ ผู้คนเริ่มทยอยกันเดินทางกลับ
โดยเฉพาะคนที่เดินทางมาจากต่างหมู่บ้าน
งานบุญชาติ และปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม
ของหมู่บ้านห้วยส้านในปีนี้ ถือเป็นปีแรก ที่ทางการจังหวัดเมียวดีโดยรัฐบาลพม่า
ได้อนุญาตให้หมู่บ้านห้วยส้านสามารถเชิญคนไทย จากประเทศไทย ให้เดินทางข้ามแม่น้ำเมยเพื่อไปร่วมงานได้อย่างเป็นทางการ
เป็นการเปิดตัวหมู่บ้านของคนไทซึ่งตกค้างอยู่บนผืนแผ่นดินพม่า
ให้ปรากฏต่อสาธารณะ
ถือเป็นกุศโลบายอันแยบยลของรัฐบาลพม่า ซึ่งได้เริ่มเปิดประเทศต่อโลกภายนอกเมื่อ
3 ปีก่อน จนเริ่มได้รับการยอมรับประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค และยังดำรงฐานะเป็นประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ในปีนี้
ซึ่งเป็นปีที่ 10
ประเทศในภูมิภาคนี้ กำลังจะก้าวขึ้นสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปีหน้า