วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ข้าวเงี้ยว…กับชีวิตที่พอเพียง



หมวก กระบุง ไม้คาน วางพร้อมอยู่หน้าครัว

ในครัว ลุงพัฒน์กับป้าคำปันกำลังช่วยกันจัดเตรียมส่วนผสมและเครื่องเคียง สำหรับทำข้าวเงี้ยว

เสียงคุยกันเบาๆ มีให้ได้ยินเป็นระยะ

ไอน้ำจากข้าวสวยร้อนๆที่เพิ่งหุงเสร็จ ลอยโชยจากกองข้าวในกระบะไม้เบื้องหน้าลุงพัฒน์ หนาจนแทบมองไม่เห็นใบหน้าของลุง

มือข้างหนึ่งถือไม้พายอันเล็กๆ อีกมือหนึ่งถือกะละมังใบย่อมที่มีส่วนผสมของเลือดกับหมูสับที่ปรุงมาแล้วตามสูตร

ลุงพัฒน์ค่อยๆเทส่วนผสมในกะละมังลงบนกองข้าวร้อนๆ ใช้ไม้พายพลิกข้าวไปมา อีกมือหนึ่งวางกะละมัง คลุกนวดให้ข้าวกับเครื่องปรุงผสมเป็นเนื้อเดียวกัน

ใกล้ๆกัน ป้าคำปันหั่นแตงกวา ซอยหอมใหญ่ จัดเรียงผักชีใส่ถุงพลาสติกเพื่อสะดวกต่อการหยิบ

จากนั้น ลุกไปนอกครัว ดูน้ำที่รองก้นซึ้งบนเตาด้านขวาที่ไฟกำลังไหม้ฟืนจนลุกโชน นำกระทะไปวางบนเตาด้านซ้ายที่ไม้ฟืนเริ่มติดไฟเปลี่ยนเป็นสีแดง เทน้ำมันหมูในถุงลงกระทะ ดูปริมาณน้ำมันได้พอเหมาะแล้วค่อยเทกระเทียมที่ซอยเตรียมไว้ลงไปในน้ำมัน ใช้ตะหลิวเกลี่ยให้ได้ระดับ แล้วปล่อยให้น้ำมันในกระทะค่อยๆร้อนบนเตา จนเดือดขึ้นเอง

กองข้าวเบื้องหน้าลุงพัฒน์เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดงเมื่อส่วนผสมถูกคลุกเคล้าจนเป็นเนื้อเดียวกัน ไอน้ำยังคงลอยกลุ่นจากความร้อนของข้าว ลุงพัฒน์ปั้นข้าวด้วยมือเปล่าตามปริมาณที่กะด้วยความชำนาญ วางข้าวที่ปั้นแล้วบนใบตอง ห่อใบตองอัดเป็นรูปสามเหลี่ยมเก็บมุมอย่างดีไม่ให้คลายตัว แล้วเรียงห่อข้าวเป็นระเบียบในซึ้งเปล่า

เมื่อซึ้งชั้นแรกถูกเรียงไว้ด้วยห่อข้าวจนเต็ม ลุงพัฒน์ค่อยๆลุกขึ้น ก้มลงจับหูซึ้ง ยกไปนึ่งบนเตาที่น้ำกำลังเดือดได้ที่ จากนั้นกลับมานั่งปั้นข้าวต่อในซึ้งที่สอง

เมื่อกระเทียมเจียวเหลืองได้ที่ ป้าคำปันเปลี่ยนกระทะใบใหม่เพื่อใช้คั่วพลิก

ระหว่างรอให้ข้าวเงี้ยวที่นึ่งอยู่ในซึ้งทั้งสามชั้นสุก ลุงพัฒน์โกยเศษใบตองมาวางรองไว้ที่ก้นกระบุง เพื่อช่วยให้ข้าวเงี้ยวในกระบุงยังคงร้อนอยู่จนถึงช่วงบ่าย

ทุกวัน ลุงพัฒน์จะนึ่งข้าวเงี้ยวเต็มซึ้ง 3 ชั้น ได้ข้าวเงี้ยวประมาณวันละ 170-180 ห่อ แกนำข้าวเงี้ยวที่ทำทั้งหมด เดินหาบขายในราคาห่อละ 10 บาท...

ภาพของชายชราร่างเล็ก ผิวคล้ำ สวมหมวก เดินหาบกระบุงซึ่งอัดเต็มไปด้วยข้าวเงี้ยว เป็นภาพชินตาของคนที่อยู่บนถนนเกาะกลาง ย่านหนองหอย ในเมืองเชียงใหม่

โดยเฉพาะบริเวณหน้าร้านก๋วยเตี๋ยว-ข้าวซอยศรีพรรณ ที่ลุงพัฒน์ปักหลักนั่งขายข้าวเงี้ยวเป็นประจำ ตั้งแต่ 11 โมงเช้ายันบ่าย 2

ลูกค้าที่มากินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านศรีพรรณเป็นประจำ ส่วนหนึ่งก็เป็นลูกค้าประจำที่มากินข้าวเงี้ยวของลุงพัฒน์

บนโต๊ะหลายโต๊ะในร้านศรีพรรณ นอกจากชามก๋วยเตี๋ยว ชามข้าวซอยแล้ว ยังต้องเห็นใบตองห่อข้าวเงี้ยวของลุงพัฒน์ที่คลี่ไว้ เคียงข้างด้วยผักกองใหญ่

มีลูกค้าอีกหลายคนขับรถมาที่นี่เพื่อซื้อข้าวเงี้ยวลุงพัฒน์กลับไปกินที่ทำงาน หรือที่บ้านโดยเฉพาะ

วันใดที่ลุงพัฒน์ไม่สบายหรือติดธุระไม่มาขาย ลูกค้ามักต้องถามหาแกกับเจ้าของร้านศรีพรรณ หรือเจ้าของแผงขายกล้วยแขกที่อยู่ตรงข้าม

ลุงพัฒน์ขายข้าวเงี้ยวเกือบ 200 ห่อ หมดทุกวัน “กำไรวันละ 300-400 บาท”แกบอก...

“ข้าวเงี้ยว”หรือ”ข้าวกั๊นจิ้น” เป็นอาหารของชาวไทใหญ่

คำว่า”กั๊น”แปลว่านวด ส่วน“จิ้น”ก็คือเนื้อ ข้าวกั๊นจิ้นจึงเป็นอาหารที่สะท้อนวิถี วัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ในอดีต ซึ่งมักเดินทางเป็นกองคาราวานเพื่อไปค้าขายห่างบ้านไกลเมือง

ข้าวกั๊นจิ้นเป็นอาหารที่สะดวกต่อการพกพาเวลาจำเป็นต้องเดินทาง

พ่อของลุงพัฒน์เป็นชาวไทใหญ่ จากอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ลุงพัฒน์เกิด พ.ศ.2488…..“ช่วงสงครามญี่ปุ่นพอดี”

สงครามญี่ปุ่นที่ลุงพัฒน์ว่า คือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นอาศัยพื้นที่แม่ฮ่องสอนเป็นทางผ่าน สำหรับเดินทัพเข้าไปในพม่า

ปีนี้ลุงพัฒน์อายุย่างเข้า 70 ส่วนป้าคำปันอายุน้อยกว่าลุงพัฒน์ 14 ปี ทั้งคู่พบรักและแต่งงานกันเมื่อตอนที่ป้าคำปันเพิ่งอายุ 17

ชื่อเต็มของลุงพัฒน์ คือ”ประพัฒน์ ปราบฝาง”

แกเล่าว่า ในสมัยเป็นหนุ่ม พ่อของแกเคยเป็นทหารอาสาไปรบที่อำเภอฝาง จึงได้นามสกุล”ปราบฝาง”

พ่อของลุงพัฒน์มีลูก 10 คน แกเป็นคนที่ 6 และเป็นคนเดียวที่รับสูตรและอาชีพหาบข้าวเงี้ยวขายสืบต่อจากพ่อ

แกยึดอาชีพหาบข้าวเงี้ยวขายตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ เริ่มจากการเป็นลูกมือของพ่อ

หมวก กระบุง และไม้คาน เครื่องมือทำกิน 3 ชิ้นที่ลุงพัฒน์ใช้หาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่เริ่มต้นนั้น ชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดคือไม้คาน

ลุงพัฒน์บอกว่า ตั้งแต่แกเริ่มจำความได้ แกก็เห็นพ่อใช้ไม้คานด้ามนี้หาบข้าวเงี้ยวขาย เมื่อแกได้สืบทอดอาชีพนี้ต่อจากพ่อ แกจึงได้รับช่วงไม้คานด้ามนี้มาด้วย

“อายุน่าจะร่วม 100 ปีได้แล้วมั๊ง”แกคำนวณโดยประมาณ

“สมัยก่อนหาบทั้งข้าวเงี้ยวกับน้ำเงี้ยว แต่ตอนหลังหาบไม่ไหว เลยทำแต่ข้าวเงี้ยวอย่างเดียว”แกบอก

ตอนเป็นวัยรุ่น พ่อพาลุงพัฒน์กับครอบครัวย้ายจากขุนยวมมาอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นลุงพัฒน์ต้องเดินหาบข้าวเงี้ยว น้ำเงี้ยวขายเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่าวันละ 20 กิโลเมตร ลัดเลาะจากสันป่าตองไปตามคลองชลประทานจนถึงอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เมื่อขายหมด ก็เดินกลับ

“สมัยนั้นขายห่อละ 50 สตางค์”

เมื่อเริ่มมีครอบครัว ลุงพัฒน์ย้ายจากอำเภอสันป่าตอง มาอาศัยบ้านคนรู้จักอยู่ที่อำเภอสารภี เส้นทางขายข้าวเงี้ยวของลุงพัฒน์ขยับเข้าใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มาเรื่อยๆ

ลุงพัฒน์กับป้าคำปัน มีลูก 2 คน คนโตเป็นผู้หญิง คนเล็กเป็นผู้ชาย

จากห่อละ 50 สตางค์ ราคาค่อยๆเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและสภาพเศรษฐกิจ แต่ด้วยความที่ลุงพัฒน์เป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันมีเพียงข้าว 3 มื้อ แกจึงมีเงินเหลือเก็บ ค่อยๆสะสมมาเรื่อยๆ

พ.ศ.2544 ลุงพัฒน์ได้นำเงินเก็บมาซื้อที่ดิน 120 ตารางวา ที่บ้านป่างิ้ว ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี แล้วสร้างบ้านขึ้นเป็นของตัวเอง

“เฉพาะที่ดิน 3 แสนบาท”...เป็นราคาเมื่อ 14 ปีที่แล้ว


เมื่อย้ายมาอยู่บ้านของตัวเอง หากยังใช้วิธีเดิมด้วยการเดินหาบข้าวเงี้ยวเร่ขาย คงทำได้ลำบาก เพราะเส้นทางเดินถูกขวางกั้นด้วยถนนวงแหวนถึง 2 เส้น ลุงพัฒน์จึงใช้วิธีเรียกรถรับจ้าง หอบกระบุง ไม้คาน ขึ้นรถ ให้รถพามาส่งในย่านชุมชนในเมืองเชียงใหม่ แล้วค่อยเดินหาบขายต่อ

ช่วงหลัง แกค่อยได้ที่ประจำบริเวณหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวศรีพรรณ ย่านหนองหอย

ข้าวเงี้ยวลุงพัฒน์เป็นที่นิยม มีลูกค้ารอซื้อเป็นประจำ จนแกขายได้หมดทุกวัน

“ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่ทำเพิ่ม”แกยืนยัน

นอกจากความอร่อย ถูกปาก และสะอาดแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ลูกค้าติดใจรสชาติข้าวเงี้ยวของลุงพัฒน์ เป็นเพราะแกทำสดใหม่ทุกวัน

แต่ก่อน ลุงพัฒน์กับป้าคำปันต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อไปเลือกซื้อหมู เลือดหมู ผักและเครื่องเคียงต่างๆในตลาด แต่ตอนหลัง แกมีเจ้าประจำที่อาสานำวัตถุดิบเหล่านี้มาส่งให้ที่บ้านทุกวันในตอนเช้ามืด

6 โมงเช้า ลุงพัฒน์จะเริ่มหุงข้าวโดยใช้เตาอั้งโล่ใบใหญ่ มีไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง การหุงข้าว ใช้วิธีซาวน้ำแบบในสมัยก่อน ข้าวที่แกใช้เป็นข้าวเจ้าเหลืองสันป่าตอง ทำให้ได้ข้าวเม็ดใหญ่ ร่วน ไม่เหนียวเกาะกันเป็นก้อน แม้ว่าจะถูกอัดแน่นอยู่ในห่อใบตอง

ในจำนวนข้าวเงี้ยว 170-180 ห่อนั้น แกใช้ข้าวเหลืองสันป่าตองวันละ 8 ลิตร

ลุงพัฒน์ใช้เวลาวันละ 4 ชั่วโมงในการทำข้าวเงี้ยว กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จในเวลาประมาณ 10 โมงถึง 10 โมงครึ่ง จากนั้น จึงเดินหาบกระบุงข้าวเงี้ยวไปยังหน้าปากซอยเพื่อรอรถ หลังจากขายหมดตอนไม่เกินบ่าย 3 ก็เรียกรถแล้วหอบอุปกรณ์ทั้งหมดขึ้นรถกลับบ้าน....

ด้วยเงินจากการหาบข้าวเงี้ยวขายในราคาห่อละไม่กี่บาท นอกจากเก็บเงินซื้อที่สามารถ สร้างบ้านเป็นของตัวเองได้แล้ว แกยังสามารถส่งเสียลูกสาวและลูกชายทั้ง 2 คนจนเรียนจบ

ทุกวันนี้ ลูกทั้ง 2 ของลุงพัฒน์และป้าคำปัน ต่างมีการมีงานทำ และแยกย้ายออกไปมีบ้านเป็นของตนเอง

ลูกชายที่ทำงานอยู่การไฟฟ้า จะมาเยี่ยมดูแลทุกข์สุขของลุงพัฒน์กับป้าคำปันทุกครั้งที่มีโอกาส

ส่วนลูกสาวที่ย้ายไปมีครอบครัว อยู่บ้านซึ่งไม่ห่างจากบ้านพ่อแม่เท่าใดนัก จะแวะมาเยี่ยมเยียนทุกวัน

แต่ไม่มีใครที่คิดจะรับช่วงอาชีพนึ่งข้าวเงี้ยวหาบขายสืบต่อ

บ้านที่ลุงพัฒน์และป้าคำปันเก็บเงินสร้างขึ้นมา จึงอยู่กันเพียง 2 คน กับ.....กิจวัตรประจำวันที่ยังคงเดิม

ลุงพัฒน์มักจะพูดกับคนทั่วไป เวลาไปถามแกถึงอาชีพหาบข้าวเงี้ยวขายว่า“หากยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องสู้ต่อ”

กับผู้เขียน...ลุงพัฒน์ยืนยันว่าถ้าร่างกายยังไหวอยู่ ก็ยังหาบข้าวเงี้ยวขายต่อไปอีกเรื่อยๆ

“สู้ สู้”เป็นคำพูดที่เปล่งออกมาพร้อมกับใบหน้าที่เปื้อนยิ้มของลุงพัฒน์

รายได้จากกำไรวันละ 300-400 บาท สำหรับลุงพัฒน์และป้าคำปันนั้น


ทั้งคู่ยืนยันว่า”เพียงพอ”แล้ว สำหรับการใช้ชีวิตทุกวันนี้.....


วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Mekong Stream




หลายปีที่มีโอกาสเดินทางขึ้น-ล่องตามลำน้ำโขง ได้บันทึกภาพ สถานที่ วิถีชีวิตของผู้คนอันหลากหลาย ที่อาศัยและทำกินอยู่ตลอดแนวลำน้ำสายนี้

แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายสำคัญ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนหลายล้านคน บนผืนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นตลอดแนวลำน้ำสายนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลจากวลีอันสวยหรูว่าเพื่อ “การพัฒนา”.....

คลิปวีดิโอความยาว 10 นาทีครึ่ง ชุดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเรียบเรียงสิ่งที่ได้”บันทึก”ไว้ ตามลำดับการไหลของสายน้ำ ในหลากหลายช่วงเวลา เส้นทางการบันทึก จากเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ผ่านประเทศไทย ลงไปจนถึงเมืองปากเซ สปป.ลาว

หลายสถานที่ซึ่งปรากฏอยู่ในคลิปยังคงสภาพเดิม แต่หลายสถานที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และอีกหลายสถานที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง


“การพัฒนา” เป็นการนำสิ่งที่ดีกว่ามาสู่ชุมชนตามลำน้ำโขงจริงหรือไม่? ในวันข้างหน้า ภาพที่ปรากฏอยู่ในคลิปวีดิโอชุดนี้ คงช่วยยืนยันได้บ้าง...ไม่มากก็น้อย

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สาวไทใหญ่ร่างเล็ก...กับภารกิจที่ไม่เล็กเหมือนกาย

เธอเป็นคนตัวเล็ก เมื่อสวมปีกแต่งชุดกิ่งกะหร่า เดินอยู่ในขบวนแห่จองพารา คนมักเข้าใจว่าเธอเป็นเด็กนักเรียน ที่โรงเรียนส่งมาร่วมแสดงในเทศกาลปอยเหลินสิบเอ็ด

เมื่อได้เห็นลีลา ท่วงท่าการรำกิ่งกะหร่าของเธอ ทุกคนล้วนตื่นตา สนใจว่าเด็กนักเรียนตัวเล็กๆผู้นี้ ใยร่ายรำได้คล่องแคล่วเหลือเกิน

เธอมีจิตวิญญานในการแสดงสูงมาก ทุกครั้งที่เสียงดนตรีดังขึ้น ทุกสัดส่วนในร่างกายของเธอต้องขยับ ร่ายรำรับกับจังหวะกลอง ฆ้อง ฉาบ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย

ด้วยสีหน้าและท่วงท่ารำของเธอ คนที่ร่วมเดินในขบวน คนที่ยืนชมอยู่รอบนอก พลอยสนุกสนานจนอดไม่ได้ หลายคนแอบขยับมือ ขยับเท้า ออกจังหวะไปพร้อมกับเธอ


         ท่วงท่าและลีลาการรำกิ่งกะหร่าที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ไม่น้อย


เมื่อมีโอกาสได้สนทนาด้วย จึงรู้ว่าเธอไม่ใช่เด็กนักเรียนอย่างที่หลายคนเข้าใจ...

“ยุ้ย”เสาวณีย์ สุขิตตาธิกุล อายุ 23 ปี กำลังเรียนอยู่คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกแนะแนว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เธอสูงเพียง 140 เซ็นติเมตร

ยุ้ยเป็นคนไทย เชื้อสายไทใหญ่ เป็นชาวแม่ฮ่องสอนโดยกำเนิด


ความสนุกสนานของคนรอบข้าง เมื่อได้เห็นท่วงท่าการร่ายรำกิ่งกะหร่าที่ไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย

ครอบครัวของยุ้ยย้ายจากเมืองนาย รัฐฉาน มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านในสอย ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน โดยย่าและพ่อของเธอย้ายเข้ามาก่อน ส่วนแม่ของเธอย้ายตามมาเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว

เมืองนายอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ห่างจากแม่ฮ่องสอนประมาณ 170 กิโลเมตร  เป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ เพระเป็นปลายทางของเส้นทางการค้าและการเดินทัพ ระหว่างเชียงใหม่และหัวเมืองไทใหญ่ในอดีต


“ยุ้ย” เสาวณีย์ สุขิตาธิกุล ในวันที่ได้สนทนากับผู้เขียน
ยุ้ยและพี่สาวอีก 2 คน เกิดในประเทศไทย

เธอเริ่มฝึกรำกิ่งกะหร่าตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 โรงเรียนบ้านในสอย ขณะที่มีอายุ 14 ปี

แต่เป็นการเรียนรู้จากผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่เธอนับถือเป็นลุง ไม่ได้เรียนจากในโรงเรียน

“สอนกันแบบบ้านๆ ลุงจะรำให้ดูก่อน จากนั้นค่อยสอนการวางเท้า วางมือ ท่ารำแต่ละท่า จากรำมือเปล่า ต่อมาก็รำโดยใส่ปีก”เธอเล่า

การสอนแบบนี้มีอยู่ทั่วไปตามชุมชนไทใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นการถ่ายองค์ความรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมไต เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านั้นได้รับการสืบทอดต่อเนื่อง จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นถัดไป

ลุงผู้สอนเห็นว่ายุ้ยเป็นคนตัวเล็ก จึงแนะนำให้เธอฝึกรำกิ่งกะหร่า ให้เหตุผลว่าจะทำให้เธอมีโอกาสรำได้หลายปีกว่าเพื่อนคนอื่นๆที่อยู่ในรุ่นเดียวกัน

ซึ่งก็เป็นจริง...

จากเริ่มต้นที่ใช้เวลาวันละ 1-2 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน ไปฝึกรำกิ่งกะหร่าที่บ้านของลุง เมื่อเริ่มชำนาญ ยุ้ยได้ออกแสดงในนามของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านในสอย และสามารถทำได้ดี

ความรักและผูกพันธ์ต่อศิลปะ ที่บ่งบอกตัวตนความเป็นไทใหญ่ของเธอ จึงถูกบ่มเพาะขึ้น

ถึงปัจจุบัน ยุ้ยเป็นนางรำกิ่งกะหร่าของบ้านในสอยมาแล้วถึง 10 ปีเต็ม ทุกครั้งที่เธอได้มีโอกาสร่ายรำกิ่งกะหร่า เป็นช่วงเวลาที่เธอมีความสุข

“ถ้าได้ยินเสียงดนตรีขึ้น จะรำไม่หยุด เป็นอย่างนั้นทุกปี บางปีคนที่รำด้วยเขาจะไม่ชอบ เพราะเขาเหนื่อย ครั้งหนึ่งเคยรำคู่กับเด็ก น้องเขาบอกเลยว่าพี่พอเถอะ น้องเหนื่อยแล้ว”

ในฐานะนางรำกิ่งกะหร่าของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านในสอย หลายปีมาแล้ว ที่ยุ้ยมีงานใหญ่ซึ่งเธอต้องไปรำเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คือเทศกาลออกพรรษา กับลอยกระทง

แต่หากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีกำหนดการต้องนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ ให้กับบุคคลภายนอก เธอมักถูกเรียกใช้ให้ไปแสดงการรำกิ่งกะหร่า โดยเธอเคยไปรำโชว์มาแล้วทั้งในกรุงเทพ และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ



คนที่ได้ไปชมขบวนแห่จองพาราที่แม่ฮ่องสอนทุกปี ต้องคุ้นหน้าคุ้นตาเธอ หลายคนแอบบันทึกภาพของเธอไว้ ตัวอย่างเช่น 2 ภาพข้างต้น ชาวญี่ปุ่นที่ได้ไปเที่ยวชมถ่ายภาพเธอขณะที่กำลังรำในขบวน โดยภาพซ้ายถ่ายในปี 2552 ส่วนภาพขวาถ่ายในปี 2553 จากนั้นได้นำภาพไปใส่กรอบ แล้วนำกลับมาให้เธอระหว่างที่กำลังรำอยู่ในขบวนแห่จองพาราปี 2554


“กิ่งกะหร่าเป็นการแสดงขั้นสูง ต้องแสดงในงานที่เป็นมงคลเท่านั้น งานศพก็ห้าม”เธอบอกถึงกฏแห่งความศรัทธาในสิ่งที่เธอแสดง

“กิ่งกะหร่าจะมีท่ารำหลักๆ ซึ่งเป็นท่าพื้นฐาน จากนั้นผู้รำแต่ละคนสามารถสร้างสรรค์ท่าของตนเองได้ แต่ต้องยึดหลักที่ว่ากิ่งกะหร่าคือการเคลื่อนไหวเลียนแบบนก ผู้รำต้องจินตนาการว่าตนเองเป็นนกไม่ใช่เป็นคน ท่ารำแต่ละท่าจึงเป็นการแสดงออกของนกไม่ใช่คน”เธออธิบาย พร้อมเสริมว่า

“ในแม่ฮ่องสอน แม้นท่ารำพื้นฐานจะคล้ายกัน แต่ว่าแต่ละชุมชนจะมีเอกลักษณ์ในการรำแตกต่างกัน บ้านในสอยรำอย่างหนึ่ง ที่แม่สะเรียง ที่ขุนยวม ก็จะมีท่ารำอีกอย่างหนึ่ง”

เธอให้เหตุผลว่า เนื่องจากผู้ที่ถ่ายทอดการรำของแต่ละชุมชน เป็นคนละคนกัน

”แต่ละที่ก็มีครูของเขาเอง”

จากลูกศิษย์ที่เรียนและฝึกฝนการรำกิ่งกะหร่ากับลุงที่เป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน วันนี้ยุ้ยได้ก้าวขึ้นการเป็นครูสอนการรำกิ่งกะหร่าให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านในสอย และอีกหลายโรงเรียนที่ขอให้เธอไปช่วยสอน

ลูกศิษย์ของเธอเป็นเด็กนักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมปีที่ 5

“ลูกศิษย์กับครูตัวสูงเท่ากันเลย”เธอเล่าแบบมีอารมณ์ขัน

เด็กนักเรียนในโรงเรียนบ้านสบป่อง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกศิษย์ของยุ้ย
นอกจากนี้ ในระดับตำบล เมื่อมีการจัดประกวดการรำกิ่งกะหร่าในระดับเยาวชน เธอก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการตัดสิน

การสอนในระดับอนุบาล แม้จะเป็นงานที่เหนื่อย เพราะเด็กเล็กขนาดนี้ อาจยังไมค่อยรู้เรื่องอะไรมาก แต่เธอมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้ปลูกฝังวัฒนธรรม ความเป็นไทใหญ่ให้แก่คนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ยังเล็กๆ

“คนไทใหญ่เน้นมากเรื่องวัฒนธรรม”เธอตัวอย่างว่า“เวลาไปหาย่า ถ้าใส่กางเกงขาสั้นไปจะโดนว่า โดนดุ ต้องใส่ผ้าถุง แล้วผ้าถุงที่ใส่ก็ต้องถูกหลักด้วยว่าต้องห่มคลุมลงไปถึงตาตุ่ม”

ในวันพระ หรือยามเทศกาลที่เธอว่างเว้นจากงานรำกิ่งกะหร่า เธอมักจะแต่งชุดไทใหญ่เพื่อไปทำบุญที่วัด ซึ่งเธอบอกว่าเมื่อได้มีโอกาสแต่งชุดไทใหญ่ ทำให้เธอมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ตัวตนของเธอ

“ชุดไทใหญ่ ถ้าคนไทใหญ่ไม่ใส่ แล้วจะให้ใครใส่”เธอกล่าวทิ้งท้าย


แม้นร่างกายเธอจะเล็ก แต่ภารกิจของเธอ “ยุ้ย”เสาวณีย์ สุขิตตาธิกุล มิได้เล็กตามไปด้วย...


ความโดดเด่นในตัวของเธอ มิได้มีแต่เพียงการรำกิ่งกะหร่าเท่านั้น ทุกวันนี้ ยุ้ยยังเป็นนักกีฬาเปตองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ไปแข่งขันในนามของจังหวัด และนำเหรียญรางวัลมาสู่จังหวัดแล้วหลายเหรียญด้วยกัน


เธอบอกว่าเธอตั้งใจเลือกเรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกแนะแนว เพราะต้องการทำงานช่วยเหลือชุมชน บ่อยครั้งที่เธอรวบรวมเสื้อผ้าใช้แล้วจากคนรู้จัก แอบติดไปรถขนส่งเสบียงอาหารของสหประชาชาติที่ขึ้นไปยังค่ายผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพื่อนำเสื้อผ้าที่รวบรวมได้ไปบริจาคให้กับผู้อพยพเหล่านั้นด้วยตัวเอง ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้อยู่ตรงตะเข็บชายแดน ห่างจากบ้านของเธอไปประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร เป็นเส้นทางที่ลำบากและเสี่ยง ในภาพเป็นอีกบุคลิกหนึ่งของเธอในเครื่องแบบอาสาสมัตรตำรวจบ้าน