วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ข้าวเงี้ยว…กับชีวิตที่พอเพียง



หมวก กระบุง ไม้คาน วางพร้อมอยู่หน้าครัว

ในครัว ลุงพัฒน์กับป้าคำปันกำลังช่วยกันจัดเตรียมส่วนผสมและเครื่องเคียง สำหรับทำข้าวเงี้ยว

เสียงคุยกันเบาๆ มีให้ได้ยินเป็นระยะ

ไอน้ำจากข้าวสวยร้อนๆที่เพิ่งหุงเสร็จ ลอยโชยจากกองข้าวในกระบะไม้เบื้องหน้าลุงพัฒน์ หนาจนแทบมองไม่เห็นใบหน้าของลุง

มือข้างหนึ่งถือไม้พายอันเล็กๆ อีกมือหนึ่งถือกะละมังใบย่อมที่มีส่วนผสมของเลือดกับหมูสับที่ปรุงมาแล้วตามสูตร

ลุงพัฒน์ค่อยๆเทส่วนผสมในกะละมังลงบนกองข้าวร้อนๆ ใช้ไม้พายพลิกข้าวไปมา อีกมือหนึ่งวางกะละมัง คลุกนวดให้ข้าวกับเครื่องปรุงผสมเป็นเนื้อเดียวกัน

ใกล้ๆกัน ป้าคำปันหั่นแตงกวา ซอยหอมใหญ่ จัดเรียงผักชีใส่ถุงพลาสติกเพื่อสะดวกต่อการหยิบ

จากนั้น ลุกไปนอกครัว ดูน้ำที่รองก้นซึ้งบนเตาด้านขวาที่ไฟกำลังไหม้ฟืนจนลุกโชน นำกระทะไปวางบนเตาด้านซ้ายที่ไม้ฟืนเริ่มติดไฟเปลี่ยนเป็นสีแดง เทน้ำมันหมูในถุงลงกระทะ ดูปริมาณน้ำมันได้พอเหมาะแล้วค่อยเทกระเทียมที่ซอยเตรียมไว้ลงไปในน้ำมัน ใช้ตะหลิวเกลี่ยให้ได้ระดับ แล้วปล่อยให้น้ำมันในกระทะค่อยๆร้อนบนเตา จนเดือดขึ้นเอง

กองข้าวเบื้องหน้าลุงพัฒน์เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดงเมื่อส่วนผสมถูกคลุกเคล้าจนเป็นเนื้อเดียวกัน ไอน้ำยังคงลอยกลุ่นจากความร้อนของข้าว ลุงพัฒน์ปั้นข้าวด้วยมือเปล่าตามปริมาณที่กะด้วยความชำนาญ วางข้าวที่ปั้นแล้วบนใบตอง ห่อใบตองอัดเป็นรูปสามเหลี่ยมเก็บมุมอย่างดีไม่ให้คลายตัว แล้วเรียงห่อข้าวเป็นระเบียบในซึ้งเปล่า

เมื่อซึ้งชั้นแรกถูกเรียงไว้ด้วยห่อข้าวจนเต็ม ลุงพัฒน์ค่อยๆลุกขึ้น ก้มลงจับหูซึ้ง ยกไปนึ่งบนเตาที่น้ำกำลังเดือดได้ที่ จากนั้นกลับมานั่งปั้นข้าวต่อในซึ้งที่สอง

เมื่อกระเทียมเจียวเหลืองได้ที่ ป้าคำปันเปลี่ยนกระทะใบใหม่เพื่อใช้คั่วพลิก

ระหว่างรอให้ข้าวเงี้ยวที่นึ่งอยู่ในซึ้งทั้งสามชั้นสุก ลุงพัฒน์โกยเศษใบตองมาวางรองไว้ที่ก้นกระบุง เพื่อช่วยให้ข้าวเงี้ยวในกระบุงยังคงร้อนอยู่จนถึงช่วงบ่าย

ทุกวัน ลุงพัฒน์จะนึ่งข้าวเงี้ยวเต็มซึ้ง 3 ชั้น ได้ข้าวเงี้ยวประมาณวันละ 170-180 ห่อ แกนำข้าวเงี้ยวที่ทำทั้งหมด เดินหาบขายในราคาห่อละ 10 บาท...

ภาพของชายชราร่างเล็ก ผิวคล้ำ สวมหมวก เดินหาบกระบุงซึ่งอัดเต็มไปด้วยข้าวเงี้ยว เป็นภาพชินตาของคนที่อยู่บนถนนเกาะกลาง ย่านหนองหอย ในเมืองเชียงใหม่

โดยเฉพาะบริเวณหน้าร้านก๋วยเตี๋ยว-ข้าวซอยศรีพรรณ ที่ลุงพัฒน์ปักหลักนั่งขายข้าวเงี้ยวเป็นประจำ ตั้งแต่ 11 โมงเช้ายันบ่าย 2

ลูกค้าที่มากินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านศรีพรรณเป็นประจำ ส่วนหนึ่งก็เป็นลูกค้าประจำที่มากินข้าวเงี้ยวของลุงพัฒน์

บนโต๊ะหลายโต๊ะในร้านศรีพรรณ นอกจากชามก๋วยเตี๋ยว ชามข้าวซอยแล้ว ยังต้องเห็นใบตองห่อข้าวเงี้ยวของลุงพัฒน์ที่คลี่ไว้ เคียงข้างด้วยผักกองใหญ่

มีลูกค้าอีกหลายคนขับรถมาที่นี่เพื่อซื้อข้าวเงี้ยวลุงพัฒน์กลับไปกินที่ทำงาน หรือที่บ้านโดยเฉพาะ

วันใดที่ลุงพัฒน์ไม่สบายหรือติดธุระไม่มาขาย ลูกค้ามักต้องถามหาแกกับเจ้าของร้านศรีพรรณ หรือเจ้าของแผงขายกล้วยแขกที่อยู่ตรงข้าม

ลุงพัฒน์ขายข้าวเงี้ยวเกือบ 200 ห่อ หมดทุกวัน “กำไรวันละ 300-400 บาท”แกบอก...

“ข้าวเงี้ยว”หรือ”ข้าวกั๊นจิ้น” เป็นอาหารของชาวไทใหญ่

คำว่า”กั๊น”แปลว่านวด ส่วน“จิ้น”ก็คือเนื้อ ข้าวกั๊นจิ้นจึงเป็นอาหารที่สะท้อนวิถี วัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ในอดีต ซึ่งมักเดินทางเป็นกองคาราวานเพื่อไปค้าขายห่างบ้านไกลเมือง

ข้าวกั๊นจิ้นเป็นอาหารที่สะดวกต่อการพกพาเวลาจำเป็นต้องเดินทาง

พ่อของลุงพัฒน์เป็นชาวไทใหญ่ จากอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ลุงพัฒน์เกิด พ.ศ.2488…..“ช่วงสงครามญี่ปุ่นพอดี”

สงครามญี่ปุ่นที่ลุงพัฒน์ว่า คือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นอาศัยพื้นที่แม่ฮ่องสอนเป็นทางผ่าน สำหรับเดินทัพเข้าไปในพม่า

ปีนี้ลุงพัฒน์อายุย่างเข้า 70 ส่วนป้าคำปันอายุน้อยกว่าลุงพัฒน์ 14 ปี ทั้งคู่พบรักและแต่งงานกันเมื่อตอนที่ป้าคำปันเพิ่งอายุ 17

ชื่อเต็มของลุงพัฒน์ คือ”ประพัฒน์ ปราบฝาง”

แกเล่าว่า ในสมัยเป็นหนุ่ม พ่อของแกเคยเป็นทหารอาสาไปรบที่อำเภอฝาง จึงได้นามสกุล”ปราบฝาง”

พ่อของลุงพัฒน์มีลูก 10 คน แกเป็นคนที่ 6 และเป็นคนเดียวที่รับสูตรและอาชีพหาบข้าวเงี้ยวขายสืบต่อจากพ่อ

แกยึดอาชีพหาบข้าวเงี้ยวขายตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ เริ่มจากการเป็นลูกมือของพ่อ

หมวก กระบุง และไม้คาน เครื่องมือทำกิน 3 ชิ้นที่ลุงพัฒน์ใช้หาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่เริ่มต้นนั้น ชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดคือไม้คาน

ลุงพัฒน์บอกว่า ตั้งแต่แกเริ่มจำความได้ แกก็เห็นพ่อใช้ไม้คานด้ามนี้หาบข้าวเงี้ยวขาย เมื่อแกได้สืบทอดอาชีพนี้ต่อจากพ่อ แกจึงได้รับช่วงไม้คานด้ามนี้มาด้วย

“อายุน่าจะร่วม 100 ปีได้แล้วมั๊ง”แกคำนวณโดยประมาณ

“สมัยก่อนหาบทั้งข้าวเงี้ยวกับน้ำเงี้ยว แต่ตอนหลังหาบไม่ไหว เลยทำแต่ข้าวเงี้ยวอย่างเดียว”แกบอก

ตอนเป็นวัยรุ่น พ่อพาลุงพัฒน์กับครอบครัวย้ายจากขุนยวมมาอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นลุงพัฒน์ต้องเดินหาบข้าวเงี้ยว น้ำเงี้ยวขายเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่าวันละ 20 กิโลเมตร ลัดเลาะจากสันป่าตองไปตามคลองชลประทานจนถึงอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เมื่อขายหมด ก็เดินกลับ

“สมัยนั้นขายห่อละ 50 สตางค์”

เมื่อเริ่มมีครอบครัว ลุงพัฒน์ย้ายจากอำเภอสันป่าตอง มาอาศัยบ้านคนรู้จักอยู่ที่อำเภอสารภี เส้นทางขายข้าวเงี้ยวของลุงพัฒน์ขยับเข้าใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มาเรื่อยๆ

ลุงพัฒน์กับป้าคำปัน มีลูก 2 คน คนโตเป็นผู้หญิง คนเล็กเป็นผู้ชาย

จากห่อละ 50 สตางค์ ราคาค่อยๆเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและสภาพเศรษฐกิจ แต่ด้วยความที่ลุงพัฒน์เป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันมีเพียงข้าว 3 มื้อ แกจึงมีเงินเหลือเก็บ ค่อยๆสะสมมาเรื่อยๆ

พ.ศ.2544 ลุงพัฒน์ได้นำเงินเก็บมาซื้อที่ดิน 120 ตารางวา ที่บ้านป่างิ้ว ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี แล้วสร้างบ้านขึ้นเป็นของตัวเอง

“เฉพาะที่ดิน 3 แสนบาท”...เป็นราคาเมื่อ 14 ปีที่แล้ว


เมื่อย้ายมาอยู่บ้านของตัวเอง หากยังใช้วิธีเดิมด้วยการเดินหาบข้าวเงี้ยวเร่ขาย คงทำได้ลำบาก เพราะเส้นทางเดินถูกขวางกั้นด้วยถนนวงแหวนถึง 2 เส้น ลุงพัฒน์จึงใช้วิธีเรียกรถรับจ้าง หอบกระบุง ไม้คาน ขึ้นรถ ให้รถพามาส่งในย่านชุมชนในเมืองเชียงใหม่ แล้วค่อยเดินหาบขายต่อ

ช่วงหลัง แกค่อยได้ที่ประจำบริเวณหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวศรีพรรณ ย่านหนองหอย

ข้าวเงี้ยวลุงพัฒน์เป็นที่นิยม มีลูกค้ารอซื้อเป็นประจำ จนแกขายได้หมดทุกวัน

“ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่ทำเพิ่ม”แกยืนยัน

นอกจากความอร่อย ถูกปาก และสะอาดแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ลูกค้าติดใจรสชาติข้าวเงี้ยวของลุงพัฒน์ เป็นเพราะแกทำสดใหม่ทุกวัน

แต่ก่อน ลุงพัฒน์กับป้าคำปันต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อไปเลือกซื้อหมู เลือดหมู ผักและเครื่องเคียงต่างๆในตลาด แต่ตอนหลัง แกมีเจ้าประจำที่อาสานำวัตถุดิบเหล่านี้มาส่งให้ที่บ้านทุกวันในตอนเช้ามืด

6 โมงเช้า ลุงพัฒน์จะเริ่มหุงข้าวโดยใช้เตาอั้งโล่ใบใหญ่ มีไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง การหุงข้าว ใช้วิธีซาวน้ำแบบในสมัยก่อน ข้าวที่แกใช้เป็นข้าวเจ้าเหลืองสันป่าตอง ทำให้ได้ข้าวเม็ดใหญ่ ร่วน ไม่เหนียวเกาะกันเป็นก้อน แม้ว่าจะถูกอัดแน่นอยู่ในห่อใบตอง

ในจำนวนข้าวเงี้ยว 170-180 ห่อนั้น แกใช้ข้าวเหลืองสันป่าตองวันละ 8 ลิตร

ลุงพัฒน์ใช้เวลาวันละ 4 ชั่วโมงในการทำข้าวเงี้ยว กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จในเวลาประมาณ 10 โมงถึง 10 โมงครึ่ง จากนั้น จึงเดินหาบกระบุงข้าวเงี้ยวไปยังหน้าปากซอยเพื่อรอรถ หลังจากขายหมดตอนไม่เกินบ่าย 3 ก็เรียกรถแล้วหอบอุปกรณ์ทั้งหมดขึ้นรถกลับบ้าน....

ด้วยเงินจากการหาบข้าวเงี้ยวขายในราคาห่อละไม่กี่บาท นอกจากเก็บเงินซื้อที่สามารถ สร้างบ้านเป็นของตัวเองได้แล้ว แกยังสามารถส่งเสียลูกสาวและลูกชายทั้ง 2 คนจนเรียนจบ

ทุกวันนี้ ลูกทั้ง 2 ของลุงพัฒน์และป้าคำปัน ต่างมีการมีงานทำ และแยกย้ายออกไปมีบ้านเป็นของตนเอง

ลูกชายที่ทำงานอยู่การไฟฟ้า จะมาเยี่ยมดูแลทุกข์สุขของลุงพัฒน์กับป้าคำปันทุกครั้งที่มีโอกาส

ส่วนลูกสาวที่ย้ายไปมีครอบครัว อยู่บ้านซึ่งไม่ห่างจากบ้านพ่อแม่เท่าใดนัก จะแวะมาเยี่ยมเยียนทุกวัน

แต่ไม่มีใครที่คิดจะรับช่วงอาชีพนึ่งข้าวเงี้ยวหาบขายสืบต่อ

บ้านที่ลุงพัฒน์และป้าคำปันเก็บเงินสร้างขึ้นมา จึงอยู่กันเพียง 2 คน กับ.....กิจวัตรประจำวันที่ยังคงเดิม

ลุงพัฒน์มักจะพูดกับคนทั่วไป เวลาไปถามแกถึงอาชีพหาบข้าวเงี้ยวขายว่า“หากยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องสู้ต่อ”

กับผู้เขียน...ลุงพัฒน์ยืนยันว่าถ้าร่างกายยังไหวอยู่ ก็ยังหาบข้าวเงี้ยวขายต่อไปอีกเรื่อยๆ

“สู้ สู้”เป็นคำพูดที่เปล่งออกมาพร้อมกับใบหน้าที่เปื้อนยิ้มของลุงพัฒน์

รายได้จากกำไรวันละ 300-400 บาท สำหรับลุงพัฒน์และป้าคำปันนั้น


ทั้งคู่ยืนยันว่า”เพียงพอ”แล้ว สำหรับการใช้ชีวิตทุกวันนี้.....